ชัยพล พรพิบูลย์ โรจนะทุ่มลงทุน 5 ปี ทุ่ม 10,000 ล้านบาท

สัมภาษณ์

นับตั้งแต่เกิดนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมคึกคักไม่น้อย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ธุรกิจนี้จะพัฒนาพื้นที่ให้ตรงใจนักลงทุนได้ เพราะองค์ประกอบในการตัดสินใจมาจากหลายด้าน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นายชัยพล พรพิบูลย์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท สวนอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ถึงแผนการขยายพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ เพื่อดึงดูดการลงทุนใน EEC

เปิดแผนพัฒนาพื้นที่ 5 ปี

ปัจจุบันมี 3 พื้นที่อยู่ระหว่างการพัฒนา คือ 1.สวนอุตสาหกรรมชลบุรี บ่อวิน 1 เนื้อที่ 1,000 ไร่ เปิดดำเนินการแล้ว 2 ปี ขายพื้นที่แล้วกว่า 70% ส่วนใหญ่ยังคงเป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ 2.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เนื้อที่ 843.41 ไร่ เตรียมเปิดดำเนินการต้นปี 2563 3.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) จ.ชลบุรี เนื้อที่ 900 ไร่ ลงทุนกว่า 2,100 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะเริ่มเปิดดำเนินการปี 2564 เน้นดึงนักลงทุนจีน และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ การแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบครบวงจร แปรรูปเกษตร เป็นต้น คาดจะดึงเงินลงทุนได้ 6,000 ล้านบาท

และเตรียมขยายพัฒนาโครงการใหม่อีก 3 โครงการ คือ โครงการชลบุรี หนองใหญ่ เนื้อที่ 2,333 ไร่ จะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 หากกระบวนการยื่นขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมกับทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้รับการอนุมัติและเสร็จขั้นตอน EIA และโครงการชลบุรี บ่อวิน 2 เนื้อที่ 1,082.40 ไร่ และโครงการอยุธยาเฟส 10 เนื้อที่ 1,000 ไร่ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนตามแผน 5 ปี ที่วางไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท

ครึ่งปีหลังลุยโรดโชว์จีน

ทิศทางการลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง จะเห็นว่านักลงทุนจีนเข้ามาใน EEC มาก ทั้งด้วยการย้ายฐานการลงทุนเพื่อผลิตส่งออกไปสหรัฐ และด้วยศักยภาพของไทยจากที่พูดคุยกับนักลงทุนจีน พบว่า แต่ละรายมีรูปแบบไม่เหมือนกัน เช่น บางรายจะซื้อโรงงานเก่าลงทุนเครื่องจักรและผลิตได้เลย บางรายจะเช่าพื้นที่สร้างโรงงานเอง ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อรองรับทั้งกลุ่มซัพพลายเชนที่ดึงมาลงทุนทั้งยวง หรือต้องการให้เราดีไซด์ให้ บางรายยังรอโครงการใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะศักยภาพพื้นที่เหมาะสมตรงกับเขามากกว่า จึงเป็นเรื่องที่ผู้ทำนิคมอุตสาหกรรมต้องปรับตัว โรจนะก็ต้องศึกษารูปแบบการลงทุนของแต่ละประเทศ เพื่อให้ตรงกับลูกค้ามากที่สุด

ปีนี้จะเดินสายพบนักลงทุน เน้นที่จีนเป็นหลัก โดยพ่วงไปกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป้าหมายยอดขายในปี 2562 ได้ 500 ไร่ รายได้รวมแตะที่ 10,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2561 ที่มียอดขายและโอนแล้วเพียง 400 ไร่เท่านั้น นับว่ายังคงตัวเลขการเติบโตที่ดี

ไม่แข่งราคา ชูบริการ

แม้ใน EEC จะมีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง แต่การแข่งขันจะไม่ใช่เรื่องของราคา เพราะราคาที่ดินใน EEC นับว่าสูงอยู่แล้ว หากยังแข่งกันด้วยราคาอีกจะไม่ส่งผลดี ดังนั้น ตอนนี้จึงแข่งกันด้วยเรื่องการบริการ และระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ ไฟฟ้า น้ำ การบำบัดน้ำเสีย การพัฒนาและดูแลลูกค้าเดิม มันคือหัวใจของการทำธุรกิจนี้

ขยายสิทธิประโยชน์ “ปราจีนฯ”

ใน EEC นักลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ตามพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุด 13 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% อีก 5 ปี สำหรับอุตสาหกรรม S-curve ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด แต่ก็หวังว่ารัฐบาลจะขยายสิทธิประโยชน์ครอบคลุมไปถึง จ.ปราจีนบุรี เพราะเป็นพื้นที่ที่มีนักลงทุนสนใจเช่นกัน