SMEs-ผู้นำเข้านับพันสะเทือน พาณิชย์คลอดกม.คุมผู้เลี่ยงภาษีAD

เอกชนกว่า 100 ราย ร่วมให้ความเห็นกรมการค้าต่างประเทศ “ปรับ” 3 ร่างกฎกระทรวงอนุบัญญัติ หลัง สนช. ผ่าน พ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาดใหม่ ขยายมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด “AC” เตรียมมีผลบังคับใช้ พ.ย.นี้ ด้าน ส.อู่ต่อเรือ-ลวดเหล็ก-หลังคาเหล็ก หวั่นอุ้มผู้ผลิตรายใหญ่ กระทบเอสเอ็มอีผู้ใช้เหล็กนับพันราย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 กรมการค้าต่างประเทศ ได้จัดประชุมรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประมาณ 129 คน ในกรณีที่ “(ร่าง) อนุบัญญัติตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562” ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเตรียมมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งทางกรมการค้าต่างประเทศต้องยกร่างกฎกระทรวงประกอบ จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย

1.กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแสดงรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน และการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนของกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. …

2.ร่าง กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นรวมทั้งสิทธิการดำเนินการ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการไต่สวนการทุ่มตลาด หรือการอุดหนุน และการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน พ.ศ. …

3.ร่าง กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาเหตุอันควรหรือเหตุผลทางเศรษฐกิจ การบั่นทอนผลการใช้บังคับมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน และหลักฐานการทุ่มตลาดหรือการได้รับการอุดหนุน พ.ศ. …

ทั้งนี้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ทุ่มตลาดฉบับนี้เกิดขึ้นหลังผู้ผลิตสินค้าในประเทศ อาทิ 7 สมาคมผู้ผลิตเหล็กได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขร่างกฎหมายเดิม เพื่อขยายให้ครอบคลุมไปถึงสินค้าที่หลบเลี่ยงภาษีการทุ่มตลาด (AD) โดยให้เหตุผลว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศไม่สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ แม้ว่าจะมีการประกาศอัตราภาษี AD ไปแล้ว แต่ก็ยังมีผู้นำเข้าใช้วิธีการหลบเลี่ยงภาษีเอดี (anticircumvention : AC) โดยนำเข้าสินค้าไปผสมกับส่วนประกอบอื่นที่ไม่ได้ช่วยให้คุณสมบัติดีขึ้น เพื่อเลี่ยงเป็นพิกัดอื่น เพื่อจะทำให้ไม่ต้องเสียภาษีเอดี

ADVERTISMENT

พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และที่ปรึกษาสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย เปิดเผยว่า สมาคมไม่เห็นด้วยกับการยกร่างกฎกระทรวงดังกล่าว กฎหมายนี้ออกมาในช่วงโค้งสุดท้ายของ สนช. ซึ่งมีเร่งรัดการออกกฎหมายจำนวนมากโดยยังไม่ได้พิจารณาผลดี-ผลเสียอย่างรอบด้าน

และในที่ประชุมได้มีการสอบถามไปหลายประเด็น แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถให้คำตอบชัดเจนได้ หลังจากนี้สมาคมจะพิจารณาทำหนังสือค้านกลับมายังกรมการค้าต่างประเทศ เพราะหากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะส่งผลกระทบในทางปฏิบัติ  ทั้งนี้ ตามกระบวนการเปิดให้มีการยื่นค้านต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาภายใน 30 วัน หรือยื่นก่อน 6 สิงหาคมนี้

ADVERTISMENT

มีผู้ประกอบการสอบถามว่า หากต้องการนำเข้าสินค้าแต่เกรงว่าจะเป็นสินค้าที่หลบเลี่ยงเอดี จะต้องทำอย่างไร สอบถามมายังกรมได้หรือไม่ ทางกรมแจ้งว่า ประเด็นนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งหากมีก็จะประกาศผ่านทางออนไลน์ ซึ่งไม่น่าจะใช้วิธีการที่เหมาะสม

กระบวนการพิจารณาในร่างนี้เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ซึ่งมีเพียงไม่กี่รายใช้วิธีดึง “ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” มาร่วมยื่นร้องเพื่อให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมาพิจารณาว่าเข้าข่ายมีการหลบเลี่ยงภาษี AD นำไปสู่การอายัดสินค้า ซึ่งจะทำให้ไม่มีวัตถุดิบในการผลิต ส่วนสินค้าที่ผลิตในประเทศ เช่น เหล็ก ก็ไม่มีคุณภาพตามที่ต้องการ จึงไม่สามารถใช้ทดแทนเหล็ก
นำเข้าได้

นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการร้องเรียน หรือนำไปสู่การทุจริตในการสกัดสินค้านำเข้าได้ด้วย ทางสมาคมจึงขอให้แก้ไขหลายประเด็น เช่น นิยามที่กำหนดให้ “ผู้เกี่ยวข้อง” สามารถยื่นร้อง ควรปรับเป็นเฉพาะผู้ที่ร้องเรียนเอดีสินค้านั้น ๆ เท่านั้น เพื่อไม่ให้เกณฑ์รายอื่นมาร่วม เป็นต้น

ต่อประเด็นที่ผู้ผลิตอ้างว่าแข่งขันกับสินค้านำเข้าไม่ได้นั้นถือว่าประเด็นนี้ เป็นปัญหาที่ยาวนานแล้ว เนื่องจากไทยไม่มีโรงงานเหล็กต้นน้ำ ต้องนำเข้าเศษเหล็กมาหลอม คุณภาพจะไม่ได้เทียบเท่ากับประเทศที่มีแร่เหล็กวัตถุดิบ อย่างจีน ขณะที่ด้านราคาแม้ว่าจะมีการออกเอดีมาแล้ว ราคาในประเทศยังสูงกว่าเหล็กนำเข้า 10-20%

การสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือการประสบปัญหาขาดทุน เป็นผลจากการลงทุนของผู้ผลิตแต่ละรายเอง จะมาเรียกร้องให้รัฐออกมาตรการช่วย หรือทางภาครัฐมองว่าการออกมาตรการจะช่วยดึงดูดการลงทุน ในท้ายที่สุดประกาศนี้คงออกมาคนที่เดือดร้อนคือผู้ใช้เหล็ก ซึ่งเป็นรายย่อย

เช่นเดียวกับนายเบญจพงษ์ โล่ห์ชิตกุล นายกสมาคมเหล็กลวด และคณะที่ได้เคยยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่งไปเมื่อเดือนมกราคม 2562 เพื่อคัดค้านการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ยืนยันว่า หากกฎหมายมีผลบังคับใช้จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่อุตสาหกรรมลวดเหล็ก แต่ยังรวมถึงผู้ผลิตหลังคาเหล็ก ท่อเหล็ก หรือแม้แต่แผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งนับรวมสมาชิกแต่ละสมาคมร่วมกันจำนวนมาก เฉพาะผู้ผลิตหลังคาเหล็กร่วมพันรายแล้ว

ด้านนายชุตินันท์ สิริยานนท์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากรับฟังความเห็นแล้ว ทางกรมการค้าต่างประเทศจะพิจารณาปรับแก้ไขร่างดังกล่าวอีกครั้ง จากนั้นจะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาถ้อยคำก่อนที่จะประกาศกฎกระทรวง เพื่อให้มีการประกาศให้มีผลบังคับใช้ให้ทันกำหนดที่ร่างกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้

หลังจากนั้นหากผู้ประกอบการใดพบว่ามีสินค้าที่เคยประกาศอัตราเอดีไปแล้วแต่มีการนำเข้าในลักษณะที่ผิดปกติอาจจะหลบเลี่ยง AD เช่น มีการนำเข้าสินค้าในพิกัดอื่นที่มีการผสมสารอื่นเข้าไปแทน หรือมีการนำเข้าโดยผ่านมาทางประเทศอื่น หรือตัดมุมตัดขอบเพื่อให้เป็นสินค้าในพิกัดอื่น ก็สามารถยื่นคำร้องมาที่คณะกรรมการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) เพื่อเปิดไต่สวนได้

“การพิสูจน์การหลบเลี่ยงเอดีหรือไม่จะพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่นว่า ตรวจสอบบัญชีโรงงาน ตัวเลขนำเข้าเพิ่มขึ้นจริง ตรวสอบแหล่งกำเนิดสินค้าหากมีการแอบอ้างว่าไปตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านแล้วส่งออกมาไทยโดยไม่มีการผลิตจริง ถ้าพิสูจน์ว่าหลบเลี่ยงก็จะมีโทษตามกฎหมาย กล่าวคือ จะขยายอัตราการเก็บ AD ในสินค้ารายการนั้นจากผู้ประกอบการรายดังกล่าว”