“เทรดวอร์” ฟรีซศก.โลก ส่งออกครึ่งปี”62หด 2.9%

ภาพรวมการส่งออกไทย 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) 2562 มีมูลค่า 122,971 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.9% ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ว่าจะขยายตัว 3% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 119,027 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.4% โดยไทยยังได้ดุลการค้า 3,943 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการส่งออกล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2562 มีมูลค่า 21,409 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 2.15%

แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัว 6.2% แต่ก็ถือว่าหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 ขณะที่การนำเข้าเดือนมิถุนายน 2562 มีมูลค่า 18,197 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 9.4% ยังคงเกินดุลการค้า 3,212 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการส่งออกไทย มาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่า ปัญหาสงครามการค้าซึ่งเริ่มเห็นผลชัดมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกที่ประเทศไทยเป็นซัพพลายเชน เช่น กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า จากการขึ้นภาษีสินค้าจีนครั้งที่ 2 และความเป็นไปได้ที่ทั้ง 2 ประเทศจะเจรจาตกลงกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความขัดแย้งของประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ที่กระทบต่อบรรยากาศการค้าโลก ทำให้ความไม่แน่นอนและความกังวลของผู้บริโภคและนักลงทุนทั่วโลกเพิ่มขึ้น

หากพิจารณาตัวเลขการส่งออกรายตลาดครึ่งปีแรก พบว่า ตลาดหลักยังขยายตัว 3.4% จากตลาดสหรัฐ ส่วนตลาดศักยภาพสูงลบ 6.5% จากอาเซียน จีน เอเชียใต้ ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวันลบ ขณะที่ตลาดศักยภาพรองลบ 6.7% จากออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก รัสเซียและซีไอเอสลบ

ส่วนกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารลบ 2.21% โดยประเภทสินค้าที่ติดลบมาก ได้แก่ ข้าว มูลค่าลดลง 17.15% ปริมาณลดลง 19.60% ยางพารามูลค่าลดลง 10.39% ปริมาณลดลง 5.97% มันสำปะหลังมูลค่าลดลง 8.55% ปริมาณลดลง 14.8% อาหารทะเลแช่แข็งและกระป๋องลบ 3.35% กุ้งสดแช่แข็งลบ

10.52% น้ำตาลทรายมูลค่าลดลง 22.07% ปริมาณลดลง 13.13% มีเพียงผักและผลไม้เพิ่มขึ้น 22.35% ไก่ 8.71% และทูน่า 0.73% อุตสาหกรรมลบ 2.60% โดยสินค้ายานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบลดลง 7.15% เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ลดลง 10.57% เครื่องไฟฟ้าลดลง 0.57% เม็ดพลาสติกลดลง 7.61% วัสดุก่อสร้างลดลง 7.02% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลง 12.11% สิ่งทอลดลง 3.42% เคมีภัณฑ์ลดลง 12.35% น้ำมันสำเร็จรูปลดลง 11.74% มีเพียงอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัว 15.20% และผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 1.50%

แนวโน้มการส่งออกในครึ่งปีหลัง 2562 นั้น ยังต้องติดตามปัจจัยลบความยืดเยื้อของสงครามการค้า ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2562 จะขยายตัว 3.3% ต่ำสุดนับจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551-2552 การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกลดลงกดดันราคาสินค้าเกษตรไทย

การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายของประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจของโลก ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าและผันผวนกว่าครึ่งปีแรก สินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญอยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และความท้าทายกับการปรับตัวเข้าสู่การผลิตเพื่อให้ตรงกับความต้องการสินค้าใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

โอกาสพลิกกลับมาเป็นบวกในช่วงครึ่งปีหลังนั้น “นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ประเมินเบื้องต้นว่า 6 เดือนจากนี้ หากส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้ทั้งปีขยายตัว 1-2% หากการส่งออกไทยเฉลี่ยเดือนละ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีโอกาสขยายตัว 0-1% โดยมองว่าการส่งเสริมการลงทุนในไทยถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งจะทำให้ไทยมีโอกาสพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้มีเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ไทยมีศักยภาพมากขึ้น

ขณะเดียวกันไทยต้องเร่งขยายการส่งออกไปตลาดอื่น ๆ เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐและจีนมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดที่ยังมีโอกาสเป็นบวก เช่น อินเดีย แคนาดา หรือสินค้าที่มีศักยภาพขยายตัวสูง อาทิ ไก่ ทั้งนี้ ภาครัฐควรใช้นโยบายส่งเสริมการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ ผลักดันให้เอกชนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ การเจรจาความตกลงทางการค้า การรักษามาตรฐานสินค้า ขยายช่องทางการขายสู่ออนไลน์

ขณะที่ปัญหาภัยแล้งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก เช่น มันสำปะหลัง อ้อยมากนัก อย่างไรก็ดี คาดว่าช่วงไตรมาส 3 ของปี การส่งออกมีโอกาสขยายตัวดีขึ้น เพราะเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อเข้ามา และยอดส่งออกจะขยายตัวสูงสุดในช่วงไตรมาส 4 ของปี