“พาณิชย์” รับมือผลไม้ใต้ทะลัก ผนึกห้างโมเดิร์นเทรด-ปั๊มน้ำมัน-สายการบิน ช่วยกระจายผลผลิต สกัดปัญหาราคาดิ่ง

แฟ้มภาพ

“พาณิชย์” รับมือผลไม้ใต้ทะลัก ระดมทุกช่องทางเชื่อมโยงตลาดผนึกห้างโมเดิร์นเทรด-ปั๊มน้ำมัน-สายการบิน ช่วยกระจายผลผลิต สกัดปัญหาราคาดิ่ง

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิขย์ มอบหมายให้กรมการค้าภายในระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยเหลือด้านการตลาด เพราะในช่วงนี้ผลผลิตผลไม้ภาคเหนือและภาคใต้กำลังออกสู่ตลาด โดยเฉพาะผลผลิตทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง รวมประมาณ 648,088 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 34 โดยเฉพาะมังคุดและลองกองเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 – 60 ออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2562 และลองกองจะออกมากเดือนกันยายน – ตุลาคม 2562

“ผลไม้ที่มีปริมาณเพิ่มมากในปีนี้ และมีปัญหากระจุกตัว เช่น มังคุด ส่งผลให้เกษตรกรขายได้ราคาลดต่ำลง กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมาตรการหาช่องทางการตลาดเพื่อรองรับผลผลิตผลไม้มาอย่างต่อเนื่องทั้งการเชื่อมโยงและกระจายผลไม้ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านธงฟ้าประชารัฐ ตลาดกลาง ตลาดต้องชม สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และสนับสนุนให้เกษตรกรมีการซื้อขายผลไม้ล่วงหน้าโดยทำสัญญาข้อตกลงกับห้างสรรพสินค้า ที่จะมารับซื้อผลไม้จากเกษตรกรแล้ว 7,864 ตัน “

ล่าสุดในวันนี้ (25 กรกฎาคม 2562) กรมการค้าภายในได้หารือขอความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ โดยจากการหารือทุกห้างสรรพสินค้ามีความพร้อมและต้องการรับซื้อผลไม้จากเกษตรกร รวมทั้งกรมฯ จะมีมาตรการเสริมในการจัดทำมังคุดบรรจุกล่องละ 5 กก. กระจายไปยังร้านธงฟ้าประชารัฐ ตลาดต้องชม ห้างสรรพสินค้า สถานีบริการน้ำมัน ซึ่งขณะนี้มีความต้องการซื้อจำนวนมาก เช่น ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต ยินดีรับซื้อมังคุด จากจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 50 ตัน โดยจะจัดส่งภายในอาทิตย์นี้ และ ร้านธงฟ้าประชารัฐในหลายจังหวัดจากทุกภาค เช่น พิษณุโลก ลำพูน เชียงใหม่ พิจิตร ลำปาง ตาก ภูเก็ต บุรีรัมย์ สมุทรสาคร อยุธยา มีคำสั่งซื้อมังคุด รวมกว่า 500 ตัน จะจัดส่งภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ และเพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสนำผลไม้มาจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง

ทั้งยังได้ขอความอนุเคราะห์หน่วยงานเอื้อเฟื้อสถานที่ให้เกษตรกรจำหน่ายผลไม้ เช่น สถานที่บริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และขอให้พิจารณาการส่งเสริมการขายของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงโดยใช้ผลไม้ไทยในการส่งเสริมการขายด้วย ซึ่งกรมฯ มั่นใจว่าจากมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการจะช่วยดึงให้ราคามังคุดปรับตัวสูงขึ้น เกรดคละ กก.ละ 20 บาท และเกรด A-B กก.ละ 40 บาท

พร้อมกันนี้จะมีการหารือร่วมกับสายการบิน (สำหรับเที่ยวบินในภาคใต้) เพื่อขอความร่วมมืออนุโลมน้ำหนักผลไม้ที่นำขึ้นเครื่อง และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย เพื่อเพิ่มจุดจำหน่ายในสนามบิน รวมทั้ง กรมฯ จะมีการจัดกิจกรรมตลาดเฉพาะสินค้าที่ตลาดคลองแห จ.สงขลา และตลาดต้องชม จำนวน 50 แห่ง ตลาดกลางและผลไม้ จำนวน 8 แห่ง และตลาดสดในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จำนวน 8 แห่ง ในช่วงวันหยุดวันแม่แห่งชาติ เพื่อรณรงค์การบริโภคผลไม้ โดยเชื่อมโยงผลไม้จากแหล่งเพาะปลูก เป้าหมายจำนวน 400 ตันอีกด้วย

นอกจากนี้ยังได้ ส่งเสริมให้เกษตรกรขยายช่องทางการตลาดในรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น การขายทางออนไลน์ การจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าผลไม้ตามฤดูกาล รวมทั้ง สนับสนุนเงินชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ให้ผู้ประกอบการ เพื่อรับซื้อผลไม้จากเกษตรกรได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการประชาสัมพันธ์และรณรงค์การบริโภคผลไม้ไทยเพิ่มขึ้น โดยขอความร่วมมือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สมาคมโรงแรมไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมท่องเที่ยว โรงเรียน และหน่วยงานราชการ ให้ช่วยบริโภคผลไม้ไทยแทนขนมหวานในมื้ออาหารหลักและอาหารว่างเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มเมนูผลไม้ไทยในการจัดเลี้ยงและการจัดประชุม

ส่วนสถานการณ์ผลผลิตลำไยภาคเหนือออกสู่ตลาดแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เช่น จังหวัดลำพูน ในวันนี้ (25 กรกฎาคม 2562) ลำไยสดร่วง AA กก.ละ 35 บาท ลำไยสดช่อ เกรด AA กก.ละ 40 – 42 บาท