“ERS” เตือน “สนธิรัตน์” พลังงานอย่าฟังการเมืองมากเกินไป

กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” หรือ ERS ได้จัดสัมมนา “ทิศทางประเทศไทย ทิศทางพลังงานไทย” มีสาระสำคัญดังนี้

5 ปีพลังงานยุค คสช.

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมา คสช.ได้ทำให้ ERS เห็นว่ารัฐบาลได้ปฏิรูปพลังงานในทิศทางที่ดีและสอดคล้องกับข้อเสนอหลายข้อ ทั้งการเปิดประมูลการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย 2 แหล่งใหญ่ กลุ่มแหล่งก๊าซเอราวัณ-บงกช ยังมีการออก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าให้ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนเปิดให้บุคคลภายนอกใช้ท่อก๊าซธรรมชาติ และลดการถือหุ้นของ ปตท.ในโรงกลั่นน้ำมัน แต่หลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นการเปิดประมูลสร้างท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ที่มีการเพิ่มคลังรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยไม่เชื่อมโยงกับแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ (gas plan) และแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า(PDP) 2018 ซึ่งเป็นแผนสำคัญเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน

ล่าสุด ERS ร่าง 6 ข้อเสนอต่อ “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เร่งผลักดันได้แก่ 1) การปรับโครงสร้างราคาพลังงานประเภทต่าง ๆ ควรสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 2) เพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในธุรกิจพลังงานเพื่อมิให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค 3) ลดการแทรกแซงโดยมิชอบและแสวงหาประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และการป้องกัน

ผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4) กระบวนการในการกำหนดนโยบาย 5) การสำรวจ พัฒนา และจัดหาแหล่งพลังงาน และ 6) การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด

เร่งเจรจาแหล่งก๊าซไทย-กัมพูชา 

นายคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลควรหาแหล่งพลังงานสำรองในประเทศที่การผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศนับวันเริ่มลดน้อยลงและหมดไป สวนทางกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นทุกปีโดยไม่ควรมุ่งเน้นไปเฉพาะการนำเข้าLNG แต่ควรเร่งเจรจาแหล่งพลังงานอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อนสัมปทานอ่าวไทยแหล่งก๊าซไทย-กัมพูชา (OCA) เพื่อเสริมความมั่นคงประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นรอยต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ไทยทุ่มลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะเดียวกัน ควรให้น้ำหนักไปที่แผนจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า (prosumer) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีของโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ที่พัฒนามีต้นทุนที่ต่ำ แต่รัฐกลับมุ่งเน้นการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มากเกินความจำเป็นตรงกันข้ามโรงไฟฟ้าภาคใต้ที่มีความจำเป็นแต่รัฐต้องกล้าตัดสินใจเพื่อกระจายความเสี่ยงของเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ แต่แผนนี้กลับถูกถอดออกไปจาก PDP 2018

เบรกประชานิยม-กองทุนน้ำมันฯ

ขณะที่ นายมนูญ ศิริวรรณ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า 2 ข้อที่รัฐมนตรีพลังงานต้องปรับ คือ 1.ลดชนิดเชื้อเพลิง โดยให้น้ำมันไบโอดีเซล B10 และแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นเชื้อเพลิงหลัก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรสวนปาล์มโดยอาศัยกลไกตลาดและลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาการใช้นโยบายระยะสั้น อาทิ B20, E85 โดยมีการอุดหนุนราคาจากเงินกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งรัฐต้องอุ้มปีละ 25,000 ล้านบาท ควรยกเลิกถาวรเพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

2.ต้องบริหารจัดการภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมโดยเท่าเทียม หากมีการอนุมัติโครงการใดควรแต่งตั้งบอร์ดเป็นการเฉพาะเพื่อความโปร่งใส

เทรนด์โลกหนุนพลังงานทดเเทน

สอดคล้องกับ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า รัฐควรมองภาพรวมเศรษฐกิจพลังงานโลกให้กว้าง โดยเฉพาะปัจจุบันธุรกิจปาล์มน้ำมันและไบโอดีเซลเป็นช่วง “sunset” ขาลง เพราะอียูไม่รับซื้อทั้งยังมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น รัฐต้องกล้าบอกเกษตรกรว่าต้องจำกัดพื้นที่ปลูก ไม่ควรส่งเสริมการปลูกปาล์มอีกต่อไปหากไม่ทำโซนนิ่งให้ชัดเจน

ขณะที่แผน PDP 2018 ควรจะต้องทบทวน “สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน” ซึ่งต่ำเกินไป ควรต้องผลักดันการใช้ชีวมวลจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ขณะเดียวกัน การผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ภาคประชาชน (100 MW 10 ปี) ควรปรับเพิ่มอัตรารับซื้อให้สูงกว่าราคาที่กำหนดไว้ในปัจจุบันที่ 1.68 บาท/หน่วย เพื่อจูงใจประชาชนให้มากกว่านี้ แต่ต้องไม่เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าในส่วนของ Ft

ช่วงปลายเวทีเสวนา ทั้ง 3 แกนนำ ERS เห็นพ้องกันว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่เข้ามารับหน้าที่นอกจากดูแลความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ต้องคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลและไม่ควรฟังเสียงนักการเมืองมากเกินไป รวมถึงต้องระมัดระวังการใช้นโยบายประชานิยม เพื่อเอาใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วย