ทัศนี เกียรติภัทราภรณ์ ฝ่าแรงต้านเดินหน้า “ผังเมือง EEC”

สัมภาษณ์

 

หลังจากโครงการ “อีสเทิร์นซีบอร์ด”ที่เรียกได้ว่าโชติช่วงชัชวาลอย่างขีดสุด ในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเมื่อ 40 ปีก่อน ถูกฟื้นขึ้นมาภายใต้โครงการ “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC” ตลอด 2 ปี การพัฒนาพื้นที่ถูกปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับความเหมาะสม รองรับการลงทุนและการขยายเมือง “ผังเมืองรวม” จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะกำหนดให้พื้นที่ EEC สามารถไปต่อได้หรือไม่

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นางสาวทัศนี เกียรติภัทราภรณ์” รองเลขาธิการ สายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) ถึงความจริงของกระบวนการปรับการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงแผนการเป็น one stop service ที่จะอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนในเดือน ส.ค. 2562 นี้

Q : แนวทางจัดทำผังเมืองเป็นอย่างไร

ที่ผ่านมาทางเครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนภาคตะวันออก ได้เข้าร่วมในการทำประชาพิจารณ์กับทาง สกพอ. มาแล้ว 3-4 ครั้ง ทุกครั้งจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงสิ่งที่ชุมชนต้องการ ความกังวล และแนวทางเยียวยา ขณะเดียวกันต่างฝ่ายต่างร่างผังเมืองรวมของตนเอง เพื่อมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งพบว่าสอดคล้องกับผังเมืองรวมที่เราได้ร่างไว้ แต่มาวันนี้ทางกลุ่มเครือข่ายได้ออกมาคัดค้านให้ทบทวนการประกาศผังเมืองรวม EEC ในวันที่ 9 ส.ค. 2562 นี้ โดยมีท่าทีที่จะยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครอง แต่การประกาศใช้ผังเมืองรวมครั้งนี้จะต้องเดินหน้าต่อไป

ตามกระบวนการกลุ่มเครือข่ายสามารถทำได้ อยู่ที่ศาลว่าจะรับเรื่องหรือไม่ หากศาลรับเรื่องจะเรียกแต่ละฝ่ายไปชี้แจง ซึ่งทาง EEC มั่นใจว่า กระบวนการทุกอย่างที่ดำเนินงานครบ 18 ขั้นตอน มี 14 รัฐมนตรีอยู่ในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ. หรือบอร์ด EEC) ช่วยกันดู จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะไม่ต่ำกว่า 40 ครั้ง เป็นทางการถึง 25 ครั้ง เวทีไม่เป็นทางการอีกประมาณ 15 ครั้ง นับได้ว่าผังเมืองรวม EEC ชุดนี้ คือ Master Plan ผังเมืองรวมระดับสากล ที่จะเป็นต้นแบบไปใช้ในการทำผังเมืองอื่น ๆ ได้

Q : ผังเมือง EEC ใหม่เป็นอย่างไร

สิ่งที่กังวลกันมากที่สุดอย่างการใช้พื้นที่เกษตร มาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมนั้นไม่ใช่ เพราะมันมีพื้นที่เกษตรที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้มาเพิ่มมูลค่า เรามีกันชนโดยกำหนดระยะห่างจากริมฝั่งตามสภาพธรรมชาติของแม่น้ำ หรือลำคลอง ไม่น้อยกว่า 500 เมตร กำหนดระยะห่างจากป่าไม้ไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร ห้ามตั้งโรงงานดังนั้นจากพื้นที่ทั้งหมด 8,291,250 ไร่ ส่วนใหญ่ยังคงกำหนดเป็นสีเขียว สัดส่วนถึง 78% แบ่งออกเป็น พื้นที่เกษตรกรรม 4,860,027 ไร่ หรือ 58.63% พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1,668,521 ไร่ หรือ 20.12% พื้นที่เมืองและชุมชน 1,115,612 ไร่ 13.46% และพื้นที่อุตสาหกรรม 412,205 ไร่ หรือ 4.97%

Q : การค้านรอบนี้ต่างจากเดิมอย่างไร

กลุ่มเครือข่ายยังมี 2 เรื่องใหม่ที่แสดงความกังวลเพิ่มเข้ามาอีก คือ การบริหารจัดการขยะ ที่ปัจจุบันในเขตส่งเสริมพิเศษทั้ง 24 แห่งที่ได้ประกาศไปแล้วนั้นหรือที่เรียกว่าพื้นที่ไข่แดง เจ้าของผู้พัฒนาพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการอยู่แล้ว ส่วนพื้นที่นอกเขตส่งเสริมพิเศษ หรือพื้นที่ไข่ขาว จะเป็นการบริหารจัดการของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ในฐานะเป็นคนออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน ควบคุมดูแลเรื่องขยะอุตสาหกรรมอยู่แล้ว จะเป็นการบูรณาการร่วมกันกับอีกหลายหน่วยงาน ทั้งกับเราและองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เขามีแผนบริหารจัดการกันไว้รออยู่แล้ว

ส่วนอีกเรื่องคือ การบริหารจัดการด้านประมงบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ที่กังวลว่าจะกระทบต่อการทำประมงในพื้นที่ เช่น บริเวณแหลมฉบังมีการเลี้ยงหอย หากสร้างท่าเรือจะทำให้กระแสน้ำไหลเปลี่ยนไปหรือไม่ กระทบกิจกรรมของชุมชนอย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วิเคราะห์พื้นที่ตรงส่วนนี้ไว้แล้ว ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น พื้นที่ใดที่จะกระทบ มีมาตรการเยียวยากลุ่มประมงอย่างไร รวมถึงแผนการรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่กำหนดให้โครงการที่เกิดขึ้นในบริเวณนั้นต้องทำ และยังรวมไปถึงปัญหาขยะในทะเลด้วยเช่นกัน

Q : ส่งเสริมอีอีซีครึ่งปีหลังอย่างไร 

ในเดือน ส.ค.นี้ เตรียมให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน ลดความซ้ำซ้อนในการอนุมัติ อนุญาตซึ่งสำนักงาน EEC มีกฎหมายที่อยู่ในอำนาจดำเนินการอนุมัติ อนุญาต สำหรับเขตส่งเสริมพิเศษทั้งหมด 8 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน

ซึ่งศูนย์นี้เราจะไม่ใช้ที่แหลมฉบังตามแผนเดิม ไม่ต้องให้บุคลากรของเจ้าของกฎหมายมานั่ง แต่เราจะใช้รูปแบบให้นักลงทุนสามารถติดต่อกับเจ้าของพื้นที่ที่ลงทุนอยู่ได้เลย เช่น นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ก็ติดต่อที่สำนักงานของการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ที่ตั้งอยู่ในนั้น หรือนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ นักลงทุนก็สามารถเดินเข้าไปติดต่อที่สำนักงานของอมตะได้เลย

กระบวนการทำงานของศูนย์นี้ถูกทำขึ้นภายใต้แพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ เมื่อนักลงทุนกรอกข้อมูลเข้ามา เราจะเป็นหน่วยงานแรกที่จะหยิบขึ้นมาพิจารณา เรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด เราก็ส่งเรื่องไปให้เขาพิจารณา เช่น ขอขุดดินและถมดินก็ส่งไปกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือขอจดทะเบียนเครื่องจักรก็ส่งไปที่กระทรวงอุตสาหกรรม เราจะช่วยประสานงานเร่งรัดให้ สำหรับค่าธรรมเนียมเมื่อเรียกเก็บหลังจากทำธุรกรรมนั้นแล้ว เราจะส่งคืนให้เจ้าของกฎหมายทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นรายได้ของเขา

Q : ทิศทางการบริหารอีอีซีเป็นอย่างไร

การที่เรามีอำนาจดำเนินการอนุมัติ อนุญาต เคยถูกมองว่ารวบอำนาจทั้งหมด แท้จริงแล้วไม่ใช่ EEC ต้องเป็นองค์กร smart และจะไม่เอาอำนาจของใครมาทั้งหมด เพราะสำนักงาน EEC ยังมีขนาดเล็กมากเทียบกับหน่วยงานอื่น ๆ แต่เรามีหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานกับเจ้าของกฎหมายให้ เสมือนเป็นประตูด่านแรก

เรามีอำนาจ แต่เราไม่ได้ใช้อำนาจในการไปมีสิทธิดำเนินการอนุมัติ อนุญาต แทนเจ้าของกฎหมายได้ แต่อำนาจที่เรามีกับกฎหมาย 8 ฉบับนั้นหมายถึง เรามีอำนาจไปปรับเปลี่ยนดีไซน์ระบบบริการให้สอดรับกับงานเราให้เป็นระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (single window) อย่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เมื่อเขาลดขั้นตอนการทำงาน เราก็เอาแพลตฟอร์มที่คุยกันไว้ไปเสนอบอร์ด EEC เมื่อบอร์ดเห็นชอบแล้ว กรอ.ก็เอาไปถือปฏิบัติได้เลย