ส่งออกปี 62 เสี่ยงติดลบถึง 1.32% ต่ำสุดในรอบ 4 ปี

หอการค้าไทย คาดส่งออกปี 2562 ติดลบ 0.64 % ครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยกระทบมาจากหลายปัจจัยสงครามการค้า เศรษฐกิจโลกลดลง ค่าเงินบาท แนะหากจะไม่ให้การส่งออกติดลบต้องเร่งทำตลาดรอง โรดโชว์สินค้าไทย

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยปี 2562 และการส่งออกไทยครึ่งหลังของปี 2562 โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปี 2562 ของไทย จะมีมูลค่าเท่ากับ 251,338 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ หดตัว -0.64% หรืออยู่ในกรอบ -0.13% ถึง -1.32% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 ปี

อย่างไรก็ตามในครึ่งหลังของปี 2562 คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ 1.6% หรืออยู่ในกรอบ 0.3 ถึง 2.7 มีมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 128,367 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ยังคงมีปัจจัยเสียงและประเด็นที่ต้องติดตาม

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการส่งออกที่สำคัญ เช่น ทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2562 มีแนวโน้มชะลอตัว โดยคาดการณ์ดีสุด 3.3% และกรณีแย่สุด 3.0% สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ ค่าเงินบาทในปี 2562 มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องแย่สุดคาดว่าอยู่ที่ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐโดยเงินบาทลดลง 1.5% มูลค่าเงินที่หายไปประมาณ 39,232 ล้านบาท

ขณะที่กรณีดีสุด 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เงินบาทลดลง 0.6% มูลค่าเงินที่หายไป 15,530 ล้านบาท ธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มจะปรับลดดอกเบี้ยลงอยู่ที่ 0.25-0.5% ซึ่งจะมีการประชุมหารือในช่วงวันที่ 30-31 กค. 62 นี้ รวมไปถึงหลายประเทศในเอเชียก็มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยด้วย ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบดูใบดีสุด 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แย่สุด 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และตลาดจีนลดการนำเข้าสินค้าจากโลกและไทย

ประเด็นที่ต้องติดตามที่มีผลกระทบ อาทิ กรอบเวลาลงนามข้อตกลงการค้าเสรีอียู-เวียดนามหรือ EVFTA ที่จะมีผลในปลายเดือนมิถุนายนนี้ โดยอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในครึ่งหลังปี 2562 ซึ่งจะกระทบสินค้าไทย เช่น เครื่องนุ่งห่ม สินค้าเกษตร เช่น ข้าว ผลไม้ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ BREXIT ข้อพิพาท “ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้” ความขัดแย้งอิหร่าน-สหรัฐฯ-อังกฤษ และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หากขึ้น 400 บาทต่อวันจะทำให้ไทยมีค่าแรงสูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน เท่ากับว่าค่าจ้างเพิ่มขึ้น 30% ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกลดไป 1.8% หรือมีมูลค่าประมาณ 4,524 ล้านหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นต้นทุน ราคาที่สูงขึ้น

คาดว่าจะเป็นผลกระทบต่อภาพการส่งออกของไทย ทั้งนี้ หากเทียบการส่งออกของไทยกับการส่งออกของประเทศต่างๆทั่วโลก 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยญี่ปุ่นส่งออกติดลบ 6.2% เกาหลีเหนือส่งออกติดลบ 7.4% สิงคโปรส่งออกติดลบ 3.5% สหรัฐส่งออกติดลบ 0.1% เป็นต้น ทั้งนี้การส่งออกส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐที่ยืดเยื้อส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

สำหรับการส่งออกครึ่งปีหลัง ที่คาดว่าจะขยายตัว 1.6% ซึ่งจะขายตัวไปในทิศทาวที่ดีคือการส่งเสริมการส่งออกจากภาครัฐ ขณะที่ ตลาดส่งออกของไทยไปในบางประเทศยังขยายตัวไปได้ดี โดยเฉพาะตลาดรองที่ไม่ใช่สหรัฐและจีน เช่น อินเดีย อาเซียน ยังคงขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้การส่งออกของไทยปี 2562 ไม่ติดลบหรือขยายตัว 0 % การส่งออกครึ่งปีหลังต้องขยายตัวไม่ต่ำว่า 2.9 % ในแต่ละเดือน หรือมีมูลค่าการส่งออกไม่น้อยกว่า 21,664 ล้านเหรียญสหรัฐ ในแต่ละเดือน

แม้จะลำบากรัฐบาลใหม่จะต้องเร่งทำโดยด่วน คือ การเร่งผลักดันตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เพียงจีนและสหรัฐ แต่รวมไปถึง อินเดีย แอฟริกา เอเชียกลาง เป็นต้น พร้อมจัดกิจกรรมชวนช้อปชิมในประเทศต่าง ๆ ด้วย