นับถอยหลังพณ.ปิดจ๊อบ คุมราคาค่ารักษาพยาบาล

1 เดือนหลังตั้งศูนย์รับแจ้งความค่ายา-พยาบาล ชาวบ้านร้อง 3 ราย ส่วนยอดร้องผ่านสายด่วน 1569 อีกนับ 10 ราย ส่วนใหญ่ค่าพยาบาลแพง ส่วนความคืบหน้า 120 รพ.แจ้ง 

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวว่า หลังจากกรมการค้าภายในได้ตั้งศูนย์รับแจ้งความกรณีราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ชั้น 3 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 มีผู้ป่วยหรือผู้ที่เข้าใช้บริการกับโรงพยาบาลมาแจ้งร้องมาที่ศูนย์ 3 ราย เป็นเรื่องการเรียกเก็บค่าบริการสูงเกินสมควร 1 ราย และการคิดค่าบริการซ้ำซ้อน 2 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง หากพบว่ามีหลักฐานจะดำเนินการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

ทั้งนี้ ศูนย์รับแจ้งความที่กรมดำเนินการนั้น เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมรับเรื่องร้องเรียนกรณีค่ารักษาพยาบาล ค่ายา หรือการให้บริการของโรงพยาบาล ที่ผู้ป่วยไม่ได้รับความเป็นธรรมได้มีช่องทางในการร้องเรียน ซึ่งกรมจะมีเจ้าหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียน เมื่อมีการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อย ทางเจ้าหน้าที่กรมจะดำเนินการส่งรายละเอียดให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป อนึ่ง ศูนย์นี้เปิดให้บริการตามวันและเวลาราชการ ในอนาคตหากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก กรมพร้อมจะขยายเวลาและวันเพิ่มเติมต่อไป

“เดิมกรมรับเรื่องร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 ซึ่งมีผู้ป่วยร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดือนมิถุนายน 2562 มี 7 ราย เดือนพฤษภาคม 4 ราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่ารักษาพยาบาล หรือค่ายาแพงเกินไป ซึ่งเมื่อร้องเรียนเข้ามา ทางเจ้าหน้าที่ก็จะรับเรื่อง และรวบรวมข้อมูลและหลักฐาน เพื่อใช้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูลพอสมควร หากต้องขอหลักฐานเกิดปัญหาความล่าช้า กรมจึงได้จัดตั้งศูนย์นี้ขึ้น เพื่อให้ผู้ต้องการร้องเรียนสามารถเข้ามาให้ข้อมูลโดยตรง พร้อมนำหลักฐานต่าง ๆ ให้เจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินการมากขึ้น”

ศูนย์รับแจ้งความดังกล่าวจะทำหน้าที่คล้ายกับการแจ้งความกับสถานีตำรวจ จะมีการสอบถามข้อมูล ขอข้อมูล หลักฐานกับผู้ที่เข้ามาร้องเรียนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนที่สุด เพื่อที่จะไปดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำหรับหลักฐานที่ผู้ร้องเรียนต้องนำมาด้วย เช่น ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล หรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบเป็นข้อมูลหลักฐาน

ล่าสุดในการส่งเรื่องร้องเรียนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถส่งฟ้องไปแล้ว 2 กรณี คือ ค่ารักษาพยาบาลแพง โดยในชั้นนี้อยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมายในการฟ้องร้อง หากเจ้าหน้าที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรมก็พร้อมจะประสานไปกับผู้ร้องเรียนเพื่อรวบรวมข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติม

นายประโยชน์กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่โรงพยาบาลจะส่งข้อมูลเรื่องราคายาและเวชภัณฑ์ให้กรม ซึ่งขยายระยะเวลาให้ถึงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 นั้น ขณะนี้มีโรงพยาบาลที่ส่งข้อมูลมาแล้ว 120 ราย จากทั้งหมด 353 ราย แต่เชื่อว่าจำนวนที่เหลือจะสามารถส่งข้อมูลให้ครบตามวันและเวลาที่กำหนด และไม่จำเป็นที่จะต้องขยายระยะเวลาเพิ่มเติมแล้ว

กระบวนการหลังจากได้รับข้อมูลแล้ว กรมจะนำมาวิเคราะห์ราคายาและเวชภัณฑ์ พร้อมทั้งเปรียบเทียบข้อมูลก่อนที่จะนำข้อมูลอัพโหลดขึ้นระบบ เพื่อเป็นฐานข้อมูลใช้ประกอบการพิจารณาให้กับผู้ป่วยที่เข้าใช้บริการตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม หากส่งข้อมูลไม่ครบ หรือไม่ส่งข้อมูล ตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กำหนดแล้วว่ามีความผิด ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ รวมไปถึงกรณีที่ทางโรงพยาบาลไม่ทำ QR code เพื่อที่ให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลได้ สำหรับการทำ QR code ของโรงพยาบาลกำหนดให้จัดทำภายใน 15 สิงหาคม 2562

สำหรับโรงพยาบาลจะปรับปรุงข้อมูลราคายาและเวชภัณฑ์ต้องแจ้งมาที่กรมก่อน 15 วัน และจะกำหนดให้เฉพาะผู้ที่โรงพยาบาลแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อกรมไว้ก่อนหน้านี้เท่านั้น ที่จะสามารถเข้าไปแก้ไขข้อมูลได้ ส่วนฐานข้อมูลเปรียบเทียบค่ายาและเวชภัณฑ์ และระบบการเชื่อมโยงข้อมูลกับ QR code ของทางโรงพยาบาล กรมได้ว่าจ้างเพื่อจัดทำขึ้นเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ การขอข้อมูลยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ อาศัยความตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่แจ้งราคาจะมีความผิดตามมาตรา 26 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกินวันละ 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับจนกว่าจะแจ้ง แต่หากผู้ประกอบรายใดมีการจำหน่ายในราคาสูงเกินสมควร จะมีความผิดตามมาตรา 29 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ