กนอ. ดึงโมเดล “รง.ขยะญี่ปุ่น” ปั้นนิคมฯรับเทรนด์ Circular Economy

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 24-29 กรกฎาคม 2562 โดยมุ่งเน้นศึกษาเทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการกลั่นปรอทขั้นสูงที่โรงงานอิโตมูกะ (Itomuka Plant) ของบริษัท โนมูระ เกาะสัน จำกัด (Nomura Kohsan Co., Ltd.) และโครงการทดสอบเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ของบริษัท เจแปน ซีซีเอส จำกัด (Japan CCS Co., Ltd.) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกยอมรับ

โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงโมเดลจากการศึกษาครั้งนี้มาปรับใช้ในการกำกับดูแลโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมของไทยที่ กนอ.มุ่งยกระดับนิคมฯทุกแห่งทั่วประเทศในที่เปิดดำเนินการให้สอดรับกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เพื่อเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศภายในปี 2564

สำหรับบริษัท Nomura Kohsan Co. Ltd นั้นก่อตั้งปี 1939 ในนาม Nomura Mining Ltd. เป็นผู้รีไซเคิลเพียงผู้เดียวในญี่ปุ่น โรงงานหลักตั้งอยู่ในฮอกไกโด ดำเนินการกำจัดของเสียและรีไซเคิลเพื่อแยกสารปรอท นำมาปรับให้บริสุทธิ์ เดิมเรียกว่า “เหมืองปรอท” แต่ภายหลังดีมานด์ปรอทลดลง ทาง Nomura Kohsan เปลี่ยนเส้นทางธุรกิจสู่การรีไซเคิลปรอท โดยใช้เทคโนโลยีการกลั่น เมื่อปี 1973

ตั้งแต่นั้นมาบริษัทได้ดำเนินการโดยใช้หลอดไฟแบบฟลูออเรสเซนต์และแบตเตอรี่เซลล์แห้งนอกเหนือจากขยะอื่น ๆ ที่มีสารประกอบปรอทนำไปเข้าสู่กระบวนการ แยกการปนเปื้อนปรอท Nomura Kohsan Meicury ซึ่งแยกได้กากตะกอน ซึ่งวิธีการหลากหลาย เช่น ขัดด้วยไฟฟ้าสถิต ใช้เครื่องดักฝุ่น ใช้ความร้อนอุณหภูมิประมาณ 600-800 ํC ซึ่งแยกกระบวนการตามวัตถุดิบที่ได้เพื่อให้ได้สารปรอทที่พร้อมจะนำไปจำหน่ายหรือนำไปผลิตเป็นวัสดุอื่น ๆ ต่อไป

นอกจากนั้นบริษัท Nomura Kohsan ยังให้ความสำคัญกับการปรับกระบวนการกลั่นสารปรอทในโรงงานด้วยเพื่อให้ได้สารปรอทในระดับที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งบริษัทยังจัดการกับ mctals หนักอื่น ๆ เช่น สารหนู ตะกั่ว และแคดเมียม และจากความได้เปรียบด้านการแข่งขันดังกล่าว บริษัทก็ยังพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาปรับใช้อย่างต่อเนื่อง พร้อมอำนวยความสะดวกโดยต่อยอดจัดตั้งธุรกิจเพื่อรวบรวมการขนส่งและการกำจัดขยะในเขตเทศบาลและอุตสาหกรรม การรีไซเคิลขยะในเขตเทศบาลและอุตสาหกรรมที่รวบรวมจาก 47 จังหวัดทั่วญี่ปุ่น

ทั้งนี้ บริษัทยังผลิตและขายปุ๋ยจากวัตถุดิบเศษเหล็กแท่งและอื่น ๆ ที่ได้มาจากขยะรีไซเคิล และยังได้ผลิตและจำหน่ายน้ำยาเคมีด้วย ทั้งทำธุรกิจรับรองและวิเคราะห์ การวัดสารที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานและการจัดการโรงแรมและน้ำพุร้อนและของเสีย เป็นต้น

ปัจจุบันได้นำเข้าเศษวัสดุ ขยะ จากหลายประเทศ เพื่อมารีไซเคิล แยกสารปรอทด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทยปริมาณการนำเข้าขยะแต่ละปีกว่า 27,000 ตัน แยกเป็นแบตเตอรี่แห้ง 13,000 ตันต่อปี หลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ใช้แล้ว 8,000 ตันต่อปี และของเสียที่มีปรอทอื่น ๆ 6,000 ตันต่อปี และนำเข้าจากไทยประมาณ 100 ตัน นำไป

บำบัดและจัดเก็บตามกระบวนการทำงานของเทคโนโลยีการกลั่นปรอทขั้นสูง ก่อนที่จะแปรสภาพกลับมาใช้งานใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยสามารถแยกสารปรอทได้ 50 ตันต่อปี

อย่างไรก็ดี บริษัทเองได้เตรียมความพร้อมรับมือว่าในอนาคตความต้องการมีแนวโน้มลดลง และจะมีสารอื่นเข้ามาทดแทน เพราะจากข้อตกลง “อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท Minamata Convention on Mercury” จะส่งผลต่อการนำเข้า-ส่งออกขยะอันตรายของแต่ละประเทศ รวมถึงไทยเพื่อมารีไซเคิลในญี่ปุ่นลดลง

ประเด็นนี้ “ไทย” จะต้องเตรียมรับมือกับขยะอันตรายที่จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยนิคมอุตสาหกรรมหลักของไทยที่ส่งออกขยะมี 2 แห่ง คือนิคมบางปู ส่งออกขยะอันตรายไปเบลเยียม และนิคมอุตสาหกรรมสงขลามาที่ญี่ปุ่น 

หากไม่สามารถส่งออกได้ต้องวางระบบบริหารจัดการที่ดี เพราะขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉายที่มีสารปรอทผสมเป็นขยะที่อันตราย หากดูแลหรือกำจัดไม่ถูกวิธีจะก่อให้เกิดอันตรายต่อคนและเกิดมลภาวะสิ่งแวดล้อมได้

ส่วนโอกาสที่ประเทศไทยจะลงทุนสร้างโรงงานแยกสารปรอทยังเป็นได้ยาก แต่อนาคตจะต้องหาแนวทางรับมือ ซึ่งหลักการ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” เป็นแนวทางหนึ่ง โดยการมุ่งลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุด และสามารถบริหารจัดขยะมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในรูปแบบของวัตถุดิบเชื้อเพลิงหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางที่ทั่วโลกต่างมุ่งไป

ทั้งนี้ เทคโนโลยีการกลั่นปรอทขั้นสูงที่โรงงานนี้ ซึ่งให้บริการรีไซเคิลขยะประเภทที่มีสารปรอท และการจัดเก็บของเสียจากสารปรอทที่มีประสิทธิภาพสูง ตามมาตรฐาน ISO 14001 ที่ทั่วโลกยอมรับ จึงกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการขยะที่มีปรอท รีไซเคิลกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ ตอบโจทย์ทั่วโลกที่ต้องการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่ กนอ.ให้ความสำคัญที่จะนำมาปรับใช้กับไทยในอนาคต

ขณะเดียวกันปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งยังมุ่งผลักดันการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ดังนั้นจึงต้องมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตควบคู่กันด้วย

ส่วนโครงการทดสอบเทคโนโลยี “CCS” ของบริษัท เจแปน ซีซีเอส ที่ตั้งอยู่บนเกาะฮอกไกโด เป็นโครงการสาธิตที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น (METI) ให้ดำเนินการทดสอบที่ “โรงกลั่นน้ำมัน” ของบริษัท อิเดะมิสึ โคซัง ในเดือนเมษายนปี 2559 เป็นครั้งแรก แบบครบทั้ง 3 ขั้นตอน คือ การดักจับ การขนส่ง และ การฉีดอัดคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปเก็บไว้ชั้นใต้ดิน

ซึ่งเป็นชั้นหินที่กักเก็บน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่หมดศักยภาพไปแล้ว ซึ่งจากการทดสอบนี้สามารถนำไปปรับใช้กับอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โรงแยกก๊าซ โรงกลั่นน้ำมัน และโรงไฟฟ้าได้เป็นอย่างดีเหตุที่เทคโนโลยี CCS ถูกเลือกใช้บนเกาะฮอกไกโดเพราะมีความเหมาะสมและปลอดภัยมากที่สุด โดยทดลองในระบบปิด และติดตามอย่างอัตโนมัติ เมื่อเกิดภัยพิบัติจะมีสัญญาณเตือนภัย จุดเด่นของ CCS นอกจากจะอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังใช้เวลาดักจับไม่นาน เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก


ส่วนไทยมีการศึกษาเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่เช่นกัน แต่การจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ยังต้องอาศัยความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่การประเมินเทคโนโลยีการดักจับ การขนส่ง ขนาดและลักษณะโครงสร้างใต้ดิน โดยเฉพาะแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมที่จะนำมาใช้ในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงต้นทุน ค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ดี ในอนาคตอาจพิจารณานำมาปรับใช้ เพราะไทยให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น