“ทีพีเคฯ” เปิดประเด็น อ้าง “รง.4” ซื้อข้าวรัฐเสี่ยง “ฮั้วประมูล”

ยืดเยื้อมากว่า 2 เดือน กรณีบริษัท ทีพีเค เอทานอล จำกัด ของนายสุเมธ เลิศตันติสุนทร ยื่นฟ้องคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และกรมการค้าต่างประเทศ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4

ในคดีหมายเลขดำที่ 1030/2560 ขอให้ “เพิกถอน” ผลการพิจารณาการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ครั้งที่ 1/2560 ลงวันที่ 13 มิ.ย. 2560 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีเป็น “ผู้ขาดคุณสมบัติ” เสนอซื้อข้าวสารในสต๊อกของรัฐ และให้ทำสัญญาซื้อขายข้าวสารกับผู้ฟ้องคดี และคดีหมายเลขดำที่ 1031/2560 ที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอ “เพิกถอน” ประกาศการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ครั้งที่ 2/2560

โดยศาลปกครองกลางมีคำสั่ง “ทุเลา” การบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ และยกเลิกการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกของรัฐให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ภายหลังผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง กระทรวงเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2560 ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่ง “กลับคำสั่งของศาลปกครองกลาง” เป็น “ยกคำขอของผู้ฟ้องคดี” จากเหตุผลว่าหากกรมฯ ไม่สามารถระบายข้าวเสียทั้งหมดได้ จะส่งผลต่อจิตวิทยากับราคาข้าวที่เกษตรกรนำออกมาสู่ตลาด และบริษัท ทีพีเค ฯ สามารถใช้วัตถุดิบอื่นมาผลิตตามกระบวนการปกติ ต่อมา เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560 ทีพีเคฯ ทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาล ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์มีคำสั่งให้ พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) ตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งนายสุเมธได้ไปให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2560

จุดเริ่มต้นปม “ทีพีเคฯ”

นายสุเมธ เล่าวว่า ทีพีเคฯ เข้ายื่นซองเสนอราคาประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่การบริโภคของคนและสัตว์ครั้งที่ 1/2560 ปริมาณ 1.03 ล้านตัน (ลอตแรก) และเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนครั้งที่ 1/2560 ปริมาณ 3.66 ล้านตัน และ 2/2560 ปริมาณ 2.20 ล้านตัน (ลอตที่ 2) เพื่อใช้ผลิตเอทานอล แต่คณะกรรมการระบายข้าว ซึ่งมีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (นางดวงพร รอดพยาธิ์) เป็นประธาน “ตัดสิทธิ์”
ทีพีเคฯ การประมูลครั้งแรก เนื่องจากมี “นายวันชัย ตั้งติพงษ์กูล” กรรมการบริหารทีพีเคฯ เคยเป็นกรรมการใน 2 บริษัทอื่นที่เคยทำความเสียหายให้กับกรมการค้าต่างประเทศเมื่อ 20 ปีก่อน เป็นการตัดสิทธิ์ทั้งที่กรมให้ทีพีเคฯผ่านการพิจารณาคุณสมบัติรอบแรก และชนะการประมูลข้าวลอตแรกไปถึง526,000 ตันแล้ว โดยแจ้งมาภายหลังผล

การเปิดซองประมูลลอตแรก 1.5 เดือน โดยส่งหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบว่า “บริษัทขาดคุณสมบัติ” เข้าร่วมประมูล ในวันที่ 13 มิ.ย. 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่เปิดให้ยื่นซองคุณสมบัติ ลอต 2 พอดี และในขณะนั้น “นายวันชัย” ได้ยื่น “ใบลาออก” จากกรรมการคงเหลือเพียงสถานะ “ที่ปรึกษา” ไม่มีอำนาจในการบริหารงานใด ๆ แต่ทีพีเคฯยังถูก “ตัดสิทธิ์” อีกด้วยเหตุผลเดิม

แม้ในหนังสือ จะเปิดให้ “อุทธรณ์คำสั่งนบข.” แต่ทำไม่ได้ เพราะในหนังสืออ้างถึง “คำสั่งของประธาน นบข.” และด้วยความเห็นชอบของ “รองประธาน นบข.” ไม่ใช่มาในรูปของมติกรรมการ ทีพีเคฯเห็นว่า “ไม่ได้รับความยุติธรรม” จึงฟ้อง และทำหนังสือโต้แย้งคำสั่งนั้นไป ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับการตัดสิทธิ์เหล่านี้ยังต้อง “รอการตัดสิน” ของศาลปกครองในสัปดาห์หน้า !

หากเทียบกับผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่น สมมุติชื่อ บริษัท เอ เคยประมูลซื้อข้าวทั่วไปแล้วทิ้งประมูล แต่ภายหลังตั้งบริษัท บี แล้วไปเสนอซื้อในราคาที่ต่ำลงและชนะประมูล ทั้งที่กรรมการบริษัท เอ และบริษัท บี เป็นกรรมการชุดเดียวกัน ผู้ถือหุ้นในบริษัทเอ มาถือหุ้นในบริษัทบี เกือบทั้งหมด และใช้ที่ตั้งสำนักงานเดียวกัน หากใช้หลักการเดียวกันก็ควรโดนตัดสิทธิ์ด้วย

“ในความรู้สึกเราถูกกระทำก่อน จึงต้องค้นหาข้อมูลว่าเราไม่ถูกต้องตรงไหน คนอื่นถูกต้องทั้งหมดจริงหรือไม่ ย้ำว่าประเด็นการตรวจสอบครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับฝ่ายการเมือง และจากการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลข้าวสาร พบพฤติการณ์อาจเอื้อประโยชน์”นายสุเมธกล่าว

เอกชนอ้าง รง.4 แห่ประมูล

เราตรวจสอบข้อมูลพบว่าในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ร่วมประมูลข้าวรายอื่น ๆ ที่เข้าร่วมประมูลข้าวลอตเดียวกัน ซึ่งในทีโออาร์ระบายข้าว ระบุว่า ผู้เข้าร่วมประมูล ต้องเป็น “นิติบุคคล” และต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม (รง.4) ว่าด้วยโรงงานที่ไม่ใช่คนบริโภค หรืออุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อคนและสัตว์บริโภค (แล้วแต่กรณี) และต้องลงบันทึกตามเอกสารแนบท้ายยื่นเจตจำนงตามทีโออาร์ว่าโรงงานจะไม่เอาไปผลิตที่ไหน เว้นแต่ตามใบอนุญาตที่แจ้งเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าสู่ระบบตลาดข้าว

แต่ปรากฏว่าใน ทางปฏิบัติกลับปล่อยให้บริษัทที่ไม่มีความพร้อม อ้างเพียงเอกสารใบขออนุญาตการประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) แต่ไม่มีกระบวนการผลิตจริง บางรายได้ยื่นขออนุญาตขยายโรงาน/เพิ่มวัตถุประสงค์ จากเดิมทำโรงงานประเภทหนึ่ง ไปเป็นโรงงานอีกประเภทหนึ่ง เพื่อให้เข้าเกณฑ์ประมูลข้าวได้ เช่น เดิมเป็นโรงสี ประเภท 9(1) ขยายไปเป็นโรงงานอาหารสัตว์ ประเภท 15(1) และ 15(2) และยื่นในระยะเวลากระชั้นชิดก่อนการยื่นเสนอประมูลเพียงไม่กี่วัน

ทั้งที่การจัดตั้งโรงงานต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนกว่าจะเปิดได้ เช่น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ติดตั้งเครื่องจักร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยื่นขอใบ รง.4 บางโรงอ้างขยายแรงม้าเครื่องจักรไม่ถึง 50 แรงม้า และที่ไม่ตรงกับเจตนาที่แจ้งไว้ รวมถึงความเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงสีไปเพิ่มวัตถุประสงค์ทำโรงอาหารสัตว์จะต้องไปขึ้นทะเบียน และจดทะเบียนสูตรอาหารสัตว์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยกรมปศุสัตว์ จึงไม่แน่ใจว่าได้มีการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้หรือไม่ ?

แรงจูงใจในการแย่งซื้อ

หากเปรียบเทียบต้นทุนผู้เข้ายื่นประมูลจากหลายอุตสาหกรรม เช่นเอทานอลจากมันเส้น บวกค่าขนส่งถึงหน้าโรงงานใกล้เคียงกับราคาข้าวเสื่อม แต่หากเทียบผู้ผลิตก๊าซชีวภาพกับวัตถุดิบสารให้ความหวาน ต้นทุน 11.75 บาท ส่วนน้ำมันเตา 7 บาท ถูกกว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลเชื้อเพลิงจากข้าว ต้นทุน 5.63 บาท แต่หากใช้แกลบต้นทุนต่ำกว่าแค่ 2.50 บาท ซึ่งวัตถุดิบแต่ละชนิดให้ความร้อนไม่เท่ากัน ส่วนโรงงานปุ๋ยไม่น่าจะใช้ข้าวผสมได้ เพราะมีแต่แป้ง ไม่มี NPK (ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปรแทสเซียม)

ดังนั้น หากปล่อยให้ประมูลอาจจะทำให้ข้าวในส่วนนี้ไหลกลับคืนสู่ตลาดปกติ จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ และหากนำไปปลอมปนผลิตเป็นข้าวเพื่อบริโภคจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ แน่นอน เพราะมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สุ่มตรวจข้าวสารจากสต๊อกของรัฐบาล พบว่ามี “อัลฟาท็อกซิน และโอคราท็อกซิน” ในข้าวจำนวนมาก ไม่สามารถทำลายด้วยความร้อนจากการหุงต้ม จึงสรุปว่าข้าวเหมาะใช้ผลิตเอทานอล ไม่สามารถปรับปรุงเพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ได้

“บริษัทเตรียมสรุปข้อมูลให้ ปปป.ถึงพฤติกรรมดังกล่าว อาจเข้าข่าย จำกัดการแข่งขัน คล้ายจีทูจี “ตามมาตรา 4″ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (ฮั้วประมูล) หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า ปปป.จะพิจารณาดำเนินการอย่างไรต่อไป”

ผลกระทบต่อธุรกิจทีพีเคฯ

การประมูลลอตแรกที่สรุปว่าทีพีเคฯชนะราคาสูงสุด ทีพีเคฯ ตัดสินใจชะลอซื้อหัวมันสำปะหลังในฤดูกาลปกติที่เริ่มออกเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม กระทั่งถึงเดือนมิถุนายน แจ้งว่าทีพีเคฯขาดคุณสมบัติ เราหันกลับไปสต๊อกมันเส้นก็ไม่ทันแล้ว พอไปซื้อต่อจากพ่อค้าราคามันสูง ทั้งยังทำสัญญาจ่ายค่าเช่าโกดังล่วงหน้าไว้รองรับข้าว 526,000 ตัน เพราะเกรงว่า ที่ 2,500 ไร่ยังไม่พอ ถ้าได้ข้าวมาจะสต๊อกไม่ทัน ถือเป็นการจ่ายฟรี และเมื่อผลอย่างนี้ ตามทีโออาร์กรมจะริบเงินค้ำประกันซองอีก 25 ล้านบาท

หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล หากชนะคดีคงต้องเรียกร้องให้ทีพีเคฯมีสิทธิซื้อข้าวตามคำพิพากษา แต่ถ้ากรมไม่ยอม ก็มีสิทธิ์จะอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด เรื่องจะชะลอออกไป แต่ทีพีเคฯยังผลิตเอทานอลจากมันเส้นขายให้กับบริษัทน้ำมันได้ปกติ มีกำลังการผลิต 1,020,000 ลิตรต่อวัน เป็นเบอร์ 1 ในวงการเอทานอลจากมันเส้น