ฝนทิ้งช่วงกระทบชาวไร่อ้อย สอน.ชง‘สุริยะ’อุ้มไร่ละ1พัน-ไม่ขัดWTO

สอน.จ่อชง “สุริยะ” ไฟเขียวแนวทางช่วยราคาอ้อยขั้นต้นให้ตันละ 1,000 บาท เตรียมคุยกระทรวงพาณิชย์โดยไม่ผิด WTO ด้วยเงินค่าเก็บเกี่ยวเฉพาะอ้อยสดสกัดอ้อยไฟไหม้ให้หมดไปในตัว หลังคาดการณ์อ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี’62/63 เหลือแค่ 120 ล้านตัน ฉุดปริมาณน้ำตาลลงอีก ด้านโรงงานน้ำตาลหวั่นคุณภาพอ้อยตก ปัญหาจากฝนน้อย ขณะที่ชาวไร่ประเมินน้ำตาลจะกลับมาสมดุล มีลุ้นราคาดีดกลับขึ้นเล็กน้อย

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากความกังวลและที่คาดการณ์ว่าในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ปริมาณผลผลิตอ้อยจะลดลง เข้าหีบได้เพียง 120 ล้านตัน นั้น จากภาวะฝนทิ้งช่วงซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลลดลงตามไปด้วย โดยภายในสัปดาห์นี้จึงเตรียมประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์และหารือถึงแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยให้ได้ 1,000 บาท/ตันตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

เนื่องจากเมื่อเข้าฤดูกาลของปีใหม่ในวันที่ 1 ต.ค. 2562 ราคาขายล่วงหน้า (forward) ของปีหน้าในตลาดโลกค่าเฉลี่ยที่อาจขยับขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 14 เซนต์/ปอนด์ เมื่อคำนวณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้ ซึ่งอยู่ประมาณ 30.9-31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะส่งผลให้ราคาอ้อยเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 695-700 บาท/ตัน (สำหรับค่าความหวานที่ 10 CCS) และเมื่อบวกค่าความหวานเฉลี่ยเพิ่มเข้าไปอีก 2 CCS จะส่งผลให้ราคาอ้อยเบื้องต้นขยับขึ้นมาอีก 80 บาท ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยให้ได้ 1,000 บาท/ตัน

พร้อมกันนี้ต้องหารือกระทรวงพาณิชย์ จะหารือร่วมกันถึงแนวทางช่วยเหลือเป็นลักษณะการช่วยในเรื่องของค่าเก็บเกี่ยว ค่าขนส่งที่กำหนดให้ความช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรที่ใช้วิธีตัดอ้อยสด ซึ่งอาจไม่ช่วยเหลือเกษตรกรที่ใช้วิธีเผาอ้อยเลย หรืออาจจะช่วยเหลือเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น แต่ในอัตราที่น้อยลงเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วย เช่น อ้อยไฟไหม้ได้ 50 บาท อ้อยสดอาจจะได้ 100 บาท เป็นต้น แนวทางการช่วยเหลือคาดว่าจะเสนอให้นายสุริยะรับทราบภายในเดือน ก.ค.นี้

“การช่วยปัจจัยการผลิตครั้งนี้มันก็ไม่ต้องใช้เงินมาก และบีบบังคับให้ตัดอ้อยสดไปในตัว อย่างปีที่แล้วเราช่วยปัจจัยการผลิตวงเงิน 6,500 ล้านบาท บราซิลก็ไม่ได้ติดใจอะไรเพราะมันน้อยเมื่อคิดเฉลี่ยออกมาเป็นตัน และเราไม่ได้ให้ทุกตัน”

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือในลักษณะดังกล่าวนั้น ถือว่าไม่ผิดองค์การการค้าโลก (WTO) และถือว่าไม่ได้ทำการอุดหนุนเนื่องจากการช่วยในส่วนที่เรียกว่าปัจจัยการผลิตนั้น สามารถทำได้ในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งใน amber box ระบุว่า สามารถให้ได้แต่ต้องให้ในลักษณะแบบไหน เช่น ห้ามให้ทุกตัน อย่างข้าวให้ในส่วนของค่าแปลสภาพ ค่าเก็บเกี่ยว ค่าขนส่ง เพราะชาวไร่ยังต้องซื้อน้ำมันมาใช้ อ้อยก็เช่นกันที่รัฐสามารถช่วยชาวไร่ได้ในกรอบของ amber box ที่เป็นการให้ชั่วคราวเมื่อเกิดกรณี ไม่ใช่ให้ถาวร

ทั้งนี้ การช่วยเหลือในอัตราเท่าไรนั้น เบื้องต้นได้หารือกับนายบุญฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ไว้บ้างแล้ว

สำหรับความช่วยเหลือปัจจัยการผลิตอ้อยเมื่อปีที่แล้วนั้น ฤดูการผลิตปี 2561/2562 ภายใต้กรอบวงเงิน 6,500 ล้านบาท ในอัตราไม่เกิน 50 บาทต่อตันอ้อย รายละไม่เกิน 5,000 ตันอ้อย และจ่ายให้ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่ขอรับความช่วยเหลือตามสิทธิไปแล้วงวดแรกวันที่ 26 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา จำนวน 134,465 ราย เป็นเงิน 3,073,034,245 บาท โดยล่าสุดเตรียมให้ความช่วยเหลือเพิ่มเป็นงวดที่ 2 เตรียมอีกกว่าประมาณ 3,200 ล้านบาทในเดือน ส.ค.นี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันปริมาณสต๊อกน้ำตาลของประเทศไทยปีการผลิต 2561/2562 มีจำนวน 6,806,000 ตัน ขณะที่ปริมาณสต๊อกน้ำตาลตลาดโลก (end stocks) ปีการผลิต 2560/2561 มีจำนวน 92,706,000 ตัน

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือจากรัฐจำเป็นต้องมี สิ่งที่ขอให้รัฐต้องช่วย คือ เงินช่วยเหลือที่เป็นต้นทุนการผลิต 200 บาท/ตัน จากที่ก่อนหน้านี้ให้ได้ 50 บาท/ตันเท่านั้น ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอเนื่องจากต้นทุนของชาวไร่ที่แท้จริงสูงถึง 1,100 บาท อย่างไรก็ตาม ปีนี้คาดว่าปริมาณอ้อยน่าจะลดลง แต่ก็จะทำให้เกิดสมดุลเพราะปีที่แล้วอ้อยล้นน้ำตาลล้นจนค้างสต๊อก ปีนี้เมื่อสมดุลราคาตลาดโลกก็จะดีดกลับมาดีขึ้น

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวว่า ได้ประเมินปริมาณผลผลิตอ้อยเบื้องต้นประจำฤดูการผลิตปี 2562/2563 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 120 ล้านตัน สอดคล้องกับการสำรวจของ สอน. โดยสิ่งที่ต้องมองต่อจากนี้ คือ ปัจจัยจากสภาพดินฟ้าอากาศในช่วง 1-2 เดือนนี้ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและคุณภาพอ้อยเข้าหีบอาจไม่ดีเท่ากับปีที่ผ่านมา ดังนั้น โรงงาน
น้ำตาลจึงพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการเพาะปลูกอ้อย เพื่อทำให้ชาวไร่สามารถจัดส่งอ้อยที่มีคุณภาพดีแก่โรงงานเพื่อนำไปผลิตน้ำตาลได้มากขึ้น

และการประชุมกับกลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก Global Sugar Alliance for Sugar Trade Reform and Liberalization (GSA) จะต้องเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศอินเดียให้การอุดหนุนราคาอ้อยเพื่อช่วยเหลือชาวไร่ และชดเชยค่าขนส่งน้ำตาลจากโรงงานไปยังท่าเรือส่งออก ซึ่งเป็นการบิดเบือนกลไกราคาน้ำตาลในตลาดโลก อินเดียควรยกเลิกมาตรการดังกล่าว