ไล่เทกโอเวอร์รง.ยางพารา หวั่น”จีน”คุมราคาเบ็ดเสร็จ

แฟ้มภาพ
ตลาดยางป่วน “ชาวสวน” หวั่นจีนเทกโอเวอร์ 5 เสือยางพาราไทย หลังจากซื้อไปแล้ว 2 ราย ผูกขาดกำหนดราคาอนาคต ทุบราคาล่วงหน้า STR เหลือ 42-43 บาท/กก. “วงศ์บัณฑิต” จ่อเซ็นจอยต์เวนเจอร์ พร้อมแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไตรมาส 3 ปีหน้า ด้านศรีตรังฯปัดขาย

สถานการณ์การผลิตและส่งออกยางพาราของประเทศไทยในขณะนี้มีสัญญาณ “ไม่ค่อยดีนัก” หลังจากมีผู้ประกอบการรายหลาย อาทิ บริษัท บี.ไรท์ รับเบอร์ จ.สงขลา และบริษัทสยามอินโด รับเบอร์ ได้เลิกกิจการเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนบริษัทเฮลตี้ โกล์ฟ โรงงานผลิตถุงมือยาง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา “ก็มีข่าวหยุดกิจการ” เนื่องจากประสบปัญหาการขาดทุนจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำและเลิกจ้างคนงานประมาณ 500 คน แม้จะเป็นการหยุดชั่วคราวหลังจากไฟไหม้โรงงานก็ตาม

ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นในวงการยางเหล่านี้ ทำให้อุตสาหกรรมยางถูกสถาบันการเงินมองว่า “เป็นธุรกิจขาลงและเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ” จนนักลงทุนจีนเห็นเป็นโอกาสที่จะเข้ามาซื้อกิจการโรงงานยางในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จากที่ก่อนหน้านี้ได้ซื้อกิจการ 2 ใน 5 ของ “ห้าเสือยางไทย” (บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน)-บริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์) ส่วนอีก 3 ราย ได้แก่ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด, บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ก็มีข่าวอย่างต่อเนื่องว่า กลุ่มทุนจีนสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการ บางรายกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา จนผู้เกี่ยวข้องในวงการค้ายางเริ่มกังวลว่า จีนกำลังจะเข้ามาเป็นผู้กำหนดราคายางภายในประเทศ

หวั่นจีนคุมราคายาง

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นักลงทุนธุรกิจแปรรูปยางจากประเทศจีนได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จากก่อนหน้านี้ได้ใช้วิธีร่วมลงทุนหรือเทกโอเวอร์กิจการของบริษัทไทย อาทิ บริษัทไทยฮั้วฯไปแล้ว และยังมีข่าวบริษัทศรีตรังฯ กับบริษัทวงศ์บัณฑิตอีก รวมถึงโรงงานแปรรูปอุตสาหกรรมยาง STR 20 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกจำนวนหนึ่งด้วย

“ในแต่ละปีไทยส่งออกยางไปยังจีนประมาณ 70% ของผลผลิตประมาณกว่า 4 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้ 40% เป็นของกลุ่มบริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่ประมาณ 5 บริษัท (5 เสือยางไทย) ดังนั้นเมื่อบริษัทเหล่านี้ถูกร่วมทุนหรือเทกโอเวอร์ไป เท่ากับมีปริมาณยางอยู่ในมือเป็นจำนวนมากจนสามารถกำหนดราคายางภายในประเทศไทยได้”

วงศ์บัณฑิตจ่อร่วมทุน

ด้าน ท.พ.พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาร่วมลงทุน (จอยต์เวนเจอร์) กับนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีหลายประเทศเข้ามาเจรจาทั้งผู้ผลิตยางล้อ/แปรรูปยางจากจีน และประเทศอื่น ๆ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ “ผมไม่อยากให้มองว่าจะมีผลต่อการกำหนดทิศทางราคายางในลักษณะที่จะเข้ามากำหนดราคายางพาราไทย เพราะเป้าหมายของการร่วมทุนต้องการให้ได้ประโยชน์กับเกษตรกรไทยในการสร้างอำนาจในการต่อรอง”

ส่วนแผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น “จะสามารถทำได้ในไตรมาส 3/2563 แน่นอน” เนื่องจากต้องดูจังหวะและทิศทางราคายาง

ศรีตรังฯปฏิเสธจีนซื้อกิจการ

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวจีนจะเข้ามาซื้อบริษัทศรีตรังฯนั้น “ไม่เป็นความจริง” ตอนนี้ธุรกิจเกษตรมีการสโลว์ แม้ว่าจะเป็นธุรกิจปลายน้ำอย่าง “ถุงมือยาง” ที่เติบโตปีละ 15% ทางสถาบันการเงินก็กังวลที่จะปล่อยกู้ ขอรัฐบาลลงทุนแล้วยังต้องมาขอสินเชื่อแบงก์อีก ตอนนี้สินค้าเกษตรอยู่ในแบล็กลิสต์ของแบงก์อยู่ในความเสี่ยง การปล่อยสินเชื่อรายเล็กรายกลางเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงเห็นภาพการปิดตัวของผู้ผลิตขนาดกลางที่เก่าแก่ 20-30 ปีในอุตสาหกรรมยาง ทำให้ลูกค้าหันมาหาเราและอาจจะมีโดนเทกเป็นเพราะการไม่ได้รับสินเชื่อ ไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงิน

“ในภาพรวมจำนวนผู้เล่นในตลาดลดลงและเทรนด์การเทกโอเวอร์ในอุตสาหกรรมนี้ก็มีมาประมาณ 3-4 ปีแล้ว ในประเทศไทยถ้าใครล้มจะโดนแต่ศรีตรังฯเองไม่มีแผนที่จะขายให้จีน”

ส่วนกรณีการแยกบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT บริษัทลูกที่ผลิตถุงมือเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯและตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการไฟลิ่งเข้าตลาดในไตรมาส 3 /2563 นั้น “ไม่ใช่เพื่อจะขายบริษัท” แต่เป็นไปเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ศรีตรังฯจะเป็นคีย์เพลเยอรใน 2 อุตสาหกรรม (ยางแท่งและถุงมือยาง) การเข้าตลาดจะช่วยเรื่องเครดิตเรตที่ดีขึ้น หากจะขอสินเชื่อจากธนาคาร

“STGT รวมอยู่กับศรีตรังฯก็ดีนะ แต่เรตไม่ดีเท่าแยกบริษัทออกมา เพราะเราสามารถเทียบถุงมือของเรากับผู้ผลิตถุงมือรายใหญ่ของมาเลเซียอย่างเพียร์ได้ทันที ตอนนี้นักลงทุนมองว่า เรายังเป็นบริษัทยาง เพราะสัดส่วนรายได้ 80% ยังเป็นยางอยู่ แต่หากเทียบอัตราส่วนราคาต่อกำไร P/E ยางอยู่ที่ประมาณ 8-10 เท่า แต่ P/E ของถุงมือยางเทียบกับในมาเลเซีย ขั้นต่ำอยู่ที่ 25 แยกแล้วเทียบกับมาเลเซีย และตลาดยางโตปีละ 1-3% ส่วนตลาดถุงมือโตปีละ 15% โดยที่เรายังถือหุ้นสัดส่วน 56% อยู่ เรายังสามารถคอนโทรลได้ แต่แบ่ง 31% ของแชร์ไปให้พับลิก ประมาณการเงินทุนยังบอกไม่ได้เพราะยังต้องรอไฟลิ่ง คงต้องประมาณไตรมาส 2 หรือ 3 ของปีหน้า ซึ่งเม็ดเงินที่ได้ต่อจากนี้จะใช้ลงทุนเป็นเงิน IPO มูลค่าหุ้นของ STA เพิ่มขึ้น ผมมองว่าจะกำไรทั้งแม่และลูก” นายวีรสิทธิ์กล่าว

ปัจจุบันตลาดถุงมือยางมีประมาณปีละ 280,000 ล้านชิ้น ในส่วนของบริษัทศรีตรังฯมีกำลังการผลิต 25,000 ล้านชิ้น ถือเป็นเบอร์ 5 ครองมาร์เก็ตแชร์ทั่วโลก 8-10% และในช่วงครึ่งปีหลังมีแผนจะตั้งโรงงานเพื่อขยายกำลังการผลิต 2 โรงงาน งบประมาณลงทุน 3,300 ล้านบาท เสร็จในไตรมาส 3/2563 ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านชิ้น แต่ถ้าจะเป็นท็อป 3 ของโลก ต้องมีกำลังการผลิตประมาณ 40,000 ล้านชิ้น หรือเพิ่มอีก 10,000 ล้านชิ้น

“จริง ๆ 5 เสือยางมีจริงหรือเปล่า บางบริษัทที่ใหญ่กว่า 5 เสือนี้ แต่ไม่ถูกกล่าวถึงก็มี ภาพการเรียก 5 เสือ เป็นการมโนของใครก็ไม่รู้ จริง ๆ แล้วคือไม่เคยมี และที่มีข่าวว่า 5 เสือกดราคายาง ผมว่าใครจะกดราคายางอะไรได้ มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะราคายางใช้ราคาจากโตคอม ไซคอม เซี่ยงไฮ้ เป็นราคาอ้างอิง ทุกอย่างถูกกำหนดโดยตลาดโลก” นายวีรสิทธิ์กล่าว

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!