ทุ่ม 1.6-1.7 หมื่นล้าน ประกันราคาข้าว ยาง ปาล์ม ‘เฉลิมชัย’ ลั่นร่วมงาน 4 พรรค ดันรายได้เกษตรกรแน่

‘เฉลิมชัย’เผยรัฐบาลเตรียมใช้งบประกันรายได้สินค้าเกษตร 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท คาดพาณิชย์เตรียมแถลง 1-2 วันนี้ อัดนโยบายเร่งด่วนให้กระทรวงเกษตรฯทำงานเชิงรุก บูรณาการทั้งหน่วยงานภายในและนอกกระทรวง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยการมอบนโยบายกับผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ว่าเนื่องจากการกำกับดูแลงานของกระทรวงเกษตรมาจากรัฐมนตรีทั้ง 4 พรรค แต่มีนโยบายที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นการทำงานหลังจากนี้ต้องบูรณาการร่วมกันโดยยึดเกษตรกรเป็นหลัก  และใช้ตลาดนำการเกษตร การผลิตสินค้าแต่ละชนิดต้องมีปริมาณ คุณภาพ ตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ไม่เกิดปัญหาล้นตลาดอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม การใช้ตลาดนำการเกษตรกระทรวงเกษตรฯต้องบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกกระทรวงด้วย ซึ่ง 1-2 วันนี้ คาดว่ากระทรวงพาณิชย์จะแถลงข่าวเรื่องการประกันรายได้ ในเบื้องต้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อใช้งบดำเนินการรวม 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกร เบื้องต้น 3 พืช ข้าว ยาง ปาล์ม

“งบประมาณดังกล่าว ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว โดยระบุว่าให้ใช้งบประมาณที่แต่ละกรมมีอยู่ไปก่อน หากไม่เพียงพอ หรือไม่มีจริงๆ ให้เสนอขอจากงบกลาง ซึ่ง 2 กระทรวงจะหารือในรายละเอียด ด้านราคา ระยะเวลาในการประกันรายได้ จำนวนเกษตรกร จำนวนพื้นที่ และผลผลิต เป็นต้น  ซึ่งในส่วนของข้าวคาดว่าจะอยู่ที่อย่างน้อยตันละ 1 หมื่นบาท ปาล์มน้ำมัน 4 บาทต่อกิโลกรัม ยางพารา 60-65 บาทต่อกิโลกรัม”

ทั้งนี้ การประกันรายได้จะดำเนินการจนกว่าจะมั่นใจว่าเกษตรกรสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง  หลังจากนั้นจะใช้มาตรการอื่นต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ปรับต้นทุนการผลิตใหม่ทั้งหมดในทุกสินค้าให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

รวมทั้งการชดเชยเมื่อพื้นที่ภาคการเกษตรได้รับความเสียหายจากปัญหาภัยธรรมชาติ  ซึ่งเรื่องนี้ได้เสนอให้ครม.พิจารณาไปแล้ว โดยการจ่ายเงินชดเชยในรูปแบบต่างๆ จะต้องมีคณะกรรมการกำกับดูแลเพื่อให้เงินดังกล่าวถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริงด้วย

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น  จึงมอบนโยบายเร่งด่วนให้ทุกหน่วยงานนำไปปฏบัติ  คือ

1.การบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องทำทันที เช่นแก้ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมซ้ำซาก

2. การแก้ราคาสินค้าเกษตร เช่น กรณีเรื่องยางพารา ได้หารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อให้นำไปใช้ทำเป็น กรวย แบริเออร์ นอกเหนือจากการทำถนน

3.การแก้ไขปัญหาประมง ผิดกฎหมายขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU) จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

4. การป้องกันและกำจัดโรคระบาด ต้องดำเนินการอย่างฉับไว ซึ่งในเบื้องต้นได้หารือกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหามันสำปะหลัง