TILOG-LOGISTIX 2019 เปิดความพร้อมการเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ไทย

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวระหว่างเป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน TILOG–LOGISTIX 2019 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 30 สิงหาคม 2562 ณ ไบเทค บางนา ว่า ธุรกิจการค้าออนไลน์ของไทยในปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท ขยายตัวถึง 14% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สูงสุดเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ส่งผลให้ความต้องการบริการโลจิสติกส์ของไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจคลังสินค้า ไปรษณียภัณฑ์ และรับส่งสินค้า ซึ่งในปี 2561 มีมูลค่ากว่า 30,800 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 2560 ถึง 11.3% ประกอบกับแนวโน้มโลจิสติกส์ที่จะเปลี่ยนไปเป็น e-Logistics แบบครบวงจรมากขึ้น

ดังนั้นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยต้องตื่นตัวเพื่อเปิดรับโอกาสของ e-Commerce โดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการและการดำเนินธุรกิจให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด นอกจากนี้กระบวนการบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานสำหรับสินค้าเกษตรที่เหมาะสม เช่น การรักษาคุณภาพ ยืดอายุให้สินค้า และลดต้นทุน ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายตลาดให้กับสินค้าเกษตรของไทย

การจัดงานแสดงสินค้า TILOG – LOGISTIX 2019 ภายใต้แนวคิด “Transformation and Collaboration for Tomorrow” จึงเป็นเวทีแสดงศักยภาพของโลจิสติกส์ไทย ในการเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน พลิกโฉมโลจิสติกส์ไทยผ่านการปรับใช้เทคโนโลยี โซลูชั่นที่ทันสมัย และสร้างเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ กับผู้ใช้บริการโลจิสติกส์ รวมถึงกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการขยายตัวของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย และเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความได้เปรียบทางการค้าให้กับธุรกิจ โดยงานนี้ได้นำผู้แสดงสินค้ากว่า 415 แบรนด์ จาก 25 ประเทศ มาจัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม โซลูชั่นและบริการด้านโลจิสติกส์ พร้อมกิจกรรมเพิ่มองค์ความรู้ และสัมมนาระดับนานาชาติ คาดผู้เข้าชมงานกว่า 11,000 ราย เป้ามูลค่าเจรจาธุรกิจจากการจัดงานกว่า 1,600 ล้านบาท

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึง แม้ว่าจะมีปัจจัยหลากหลายที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบัน ทั้งสงครามการค้า พฤติกรรมผู้บริโภคสู่ Digital Economy หรือแม้แต่สถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยและต้นทุนการเงิน หากผู้ประกอบการมีการเตรียมความพร้อมที่จะปรับตัวโดยเน้นการพัฒนา Business model ร่วมกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมการพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์ ระดับ Global Value Chain การพัฒนาด้าน IT และ e-Commerce รวมถึงการพัฒนาด้านแรงงาน ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่คู่ค้าและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อยกระดับโลจิสติกส์ของประเทศ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกฎหมายการอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมถึงการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการภาคเอกชนและความร่วมมือระหว่าง Supply Chain ก็จะมีส่วนในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลกเช่นกัน

นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย กล่าวถึงทิศทางที่โลจิสติกส์ไทยจะแข่งขันได้ในอนาคตว่า ธุรกิจที่จะสามารถอยู่รอดได้ภายใต้การค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบัน ผู้ประกอบการจะต้องมีความพร้อมทางด้านการลงทุน บุคลากรที่มีคุณภาพและมีเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ ไปพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ เช่น การปรับตัวของภาคการขนส่งกระจายสินค้าให้เข้ากับธุรกิจ e-Commerce การนำเทคโนโลยี Block Chain มาช่วยลดขั้นตอนการทำธุรกิจและสามารถยืนยันความถูกต้องของเอกสารได้ในเวลาเดียวกัน เป็นต้น การพัฒนาทั้ง 2 ส่วนควบคู่กันจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนการให้บริการที่มีคุณภาพให้กับผู้ส่งออกและผู้นำเข้า รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถด้านบริการโลจิสติกส์ ซึ่งส่งผลสำคัญพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าระหว่างประเทศของไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

นายสุทธิศักดิ์ วิลานันท์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด เปิดเผยว่า ความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับงานให้เป็นเวทีสำหรับคนในวงการโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากทั่วภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV

“งาน TILOG – LOGISTIX 2019 ระหว่างวันที่ 28 – 30 สิงหาคม 2562 ณ ฮอลล์ 98 ไบเทค กรุงเทพ พร้อมจัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมครบครันด้านระบบโลจิสติกส์ ตั้งแตโซลูชั่นพื้นฐานไปจนถึงนวัตกรรมอัจฉริยะ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์โลจิสติกส์ยุคดิจิทัล ที่จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกอบการ เช่น ระบบโซลูชันแบบอินทิเกรตเพื่อการบริหารจัดการ Supply Chain คลังสินค้าอัตโนมัติ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศก็เตรียมพร้อมที่นำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายผ่านการเจรจาธุรกิจภายในงาน โดยในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากคณะผู้แทนการค้าจากต่างประเทศเข้าร่วมงานและเจรจาธุรกิจกว่า 500 ราย จากจีน ไต้หวัน มาเลเซีย และกลุ่มประเทศ CLMV เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น พบเทคโนโลยีโดรน นวัตกรรมโลจิสติกส์แห่งอนาคตที่โซน “Innovation Showcase” เรียนรู้จากแนวคิดและกลยุทธ์ของผู้นำวงการโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนามาตรฐานธุรกิจสู่ระดับสากล ณ “ELMA Showcase” เทคโนโลยีระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์จากสตาร์ทอัพไทยที่ “Logistics Startup Pavilion” ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการโลจิสติกส์ไม่ควรพลาดโอกาสสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจ รองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การขยายเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจผ่านเวทีที่รวบรวมสินค้า เทคโนโลยี และบริการด้านโลจิสติกส์ พร้อมด้วยองค์ความรู้มากมายจากงานสัมมนาที่น่าสนใจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ เช่น Trade Logistics Symposium 2019 นำเสนอความรู้เพื่อรับมือกับความท้าทายในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive Technology) จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก World Transport & Logistics Forum Thailand (WTLFT) บทวิเคราะห์เชิงลึกและเทรนด์โลจิสติกส์ยุคดิจิทัลโดยธนาคารโลก (World Bank) และประเด็นสัมมนาอื่นๆกว่า 20 หัวข้อ เชื่อมั่นว่างาน TILOG-LOGISTIX 2019 จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยได้ในระดับสากล