“จุรินทร์” สั่งเดินหน้า 10 นโยบาย ตั้ง “คณะทำงาน 3 ประสาน” เคาะประกันรายได้ 5 พืช

จุรินทร์สั่งเดินหน้า 10 นโยบาย เน้น 4 งานร้อนช่วง 6 เดือนแรก ตั้ง “คณะทำงาน 3 ประสาน” สรุปแผนประกันรายได้ 5 พืช ชง ครม.พิจารณางบดำเนินการ นำร่อง “ปาล์มน้ำมัน-ยางพารา” ปิ๊งไอเดียปั้น “สมาร์ทโชห่วย” ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ย้ำยังไม่ปรับเป้าหมายส่งออก รอถก กรอ. 14 ส.ค.นี้ งัดแผนกู้ส่งออกฝ่าหยวน-สงครามการค้า

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในโอกาสประชุมมอบนโยบายคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล) พร้อมด้วยตัวแทนจากสำนักงบประมาณ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการนโยบายสำคัญ 10 ด้าน โดยมี 4 ด้านแรกที่เป็นวาระเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการให้เห็นผลภายในช่วง 6 เดือนแรก ประกอบด้วย 1) การประกันรายได้พืชเกษตร 5 รายการ คือ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และมันสำปะหลัง 2) การดูแลราคาสินค้า 3)การเร่งรัดผลักดันการส่งออก และ 4) การเจรจาความตกลงการค้าเสรี ที่ค้างท่อ ประกอบด้วย RCEP เอฟทีเอไทย-อียู, ตุรกี ศรีลังกา ปากีสถานและอังกฤษ รวมถึงการหาข้อสรุปว่าจะเดินหน้า ข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับความร่วมมือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก (CPTPP) ต่อเนื่องหรือไม่

ส่วนอีก 6 นโยบายประกอบด้วย 5) การเดินหน้าจัดทำระบบ e-Filing ต่อเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการออกเอกสาร 6) การเร่งรัดการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยจะมีการจัดโมบายยูนิตออกไปให้ความรู้และให้บริการ 7) การผลักดันเศรษฐกิจยุคใหม่ทั้งการใช้ระบบดิจิทัล ไบโออีโคโนมี ครีเอทีฟ และออนไลน์ เป็นต้น 8) การพัฒนาโชวห่วยเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยจะจัดทำ “สมาร์ทโชห่วย” หรือโชห่วยนิวลุค เพื่อปรับภาพลักษณ์การให้บริการเหมือนกับร้านสะดวกซื้อ (Convenient Store) ส่วนโครงการธงฟ้าประชารัฐก็ยังคงดำเนินการต่อ เป็นคนละส่วนกันกัน และ 9) การมุ่งส่งเสริมภาคบริการ เช่น ร้านอาหารไทยซีเลค สปา ธุรกิจภาพยนต์และอื่นๆ เเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ 10) การดำเนินการผ่าน 4 กลไกหลัก

ทั้งนี้ กระบวนการทำงานจะอาศัย 4 กลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบายให้เห็นผล คือ การประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ทุกเดือน การประชุมคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชน (กรอ.) และกระทรวงพาณิชย์-เอกชน และได้มีการตั้งกลไกใหม่ คือ คณะทำงาน 3 ประสาน ร่วมกับรัฐ เอกชน และเกษตรกร และการใช้ทูตพาณิชย์ เป็นมืออาชีพในการดำเนินการ ส่งเสริมและสนับสนุนเอกชนในการส่งออก

“การดำเนินนโยบายประกันรายได้ ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วน ขณะนี้จะใช้กลไกคณะทำงาน 3 ประสาน ในวางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการประกันรายได้ ว่าจะกำหนดราคาประกันเท่าไร ใช้งบประมาณเท่าไร มีกรรมวิธีอย่างไร โดยเบื้องต้นมีแนวทางปฏิบัติอยู่แล้ว เช่น เกษตรกรมีการขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรอยู่แล้ว และ ธ.ก.ส.จะเป็นผู้ปฏิบัติการเรื่องการจ่ายเงิน ซึ่งรายละเอียดของ 5 พืชก็จะทยอยเสนอเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการของแต่ละสินค้า โดยจะเริ่มจากปาล์มน้ำมันก่อน จะประชุมวันนี้ จากนั้นจะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการพืชน้ำมัน ส่วนยางพาราทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นผู้พิจารณา คาดว่าจะมีการประชุมในวันที่ 9 ส.ค.นี้”

ต่อประเด็นงบประมาณในการดำเนินโครงการประกันรายได้ 5 พืชนั้น หลังจากที่ประชุม 3 ประสานสรุปและเสนอต่อคณะกรรมการของพืชแต่ละชนิดได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่าจะใช้งบประมาณจากส่วนใด จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณกลางฉุกเฉินหรือไม่ ทาง ครม.จะพิจารณา ส่วนวงเงินที่ระบุว่าอาจจะใช้ประมาณ 16,000-17,000 ล้านบาทนั้น น่าจะเป็นเฉพาะในส่วนของยางพาราเท่านั้น ยังไม่รวมพืชชนิดอื่น ส่วนงบประมาณประจำปี 2563 ทางการกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการจัดทำแผนในรายละเอียดอยู่แล้ว เป็นไปตามการเสนองบประมาณ

“ส่วนการผลักดันการส่งออกครึ่งปีหลัง แม้ว่าจะมีสงครามการค้า ปัญหาเรื่องค่าเงินหยวนที่เกิดขึ้น ทางกระทรวงจะหารือกับภาคเอกชนผ่านกลไก กรอ.ในวันที่ 14 ส.ค.นี้ ก่อนที่จะพิจารณาทบทวนเป้าหมายการส่งออกปี 2562 ว่าจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมหรือไม่ และภาคเอกชนจะมีการเสนอแนวทางอย่างไรในการแก้ไขปัญหา”