ยักษ์อาหารทะเล ประสานเสียง หนุน C188 หวังสลัดบ่วงใบเหลือง IUU

ปราชญ์ เกิดไพโรจน์

แม้สหภาพยุโรปจะปรับลดให้ไทยหลุดพ้นสถานะ “ใบเหลือง” ไปแล้วก็ตาม แต่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องรักษามาตรฐานการทำประมง IUU ด้วยความสม่ำเสมอ ในเสวนา หลังคลื่น IUU เดินหน้าหรือหยุดนิ่ง ? ทิศทางและความท้าทายล่าสุดประมงไทย ซึ่งจัดโดยภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลทิศทางการประมงของไทย

นายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากย้อนไปก่อนหน้าบริษัทให้ความสำคัญเกี่ยวกับภาคแรงงานมาตลอด ก่อนที่จะมีการให้สัตยาบันพิธีสารของอนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ และอนุสัญญาฉบับที่ 188 จะมีผล ทำให้มาตรการทางกฎหมายและการบังคับใช้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ แต่บริษัทไม่ได้เป็นเจ้าของเรือประมงจึงทำได้เพียงขอความร่วมมือจากคู่ค้า

เช่น ผู้ผลิตปลาป่นให้ตรวจสอบซัพพลายเออร์อีกที ตอนนี้บริษัทซื้อปลาป่นที่เป็น by product ทั้งหมดซึ่งส่งผลให้ไม่ได้มีการจัดซื้อจากเรือในไทย ดังนั้นความท้าทายในปัจจุบันคือความคาดหวังจากคู่ค้าต่างชาติที่สูงกว่ากฎหมายไทย

ประกอบกับช่องทางการร้องเรียนแต่ละช่องทางมีความเฉพาะตัวและความท้าทายแตกต่างกันออกไป เช่น การร้องเรียนให้ปรับปรุงสวัสดิการและสภาพการทำงานทั่วไปมักจะมาจากคณะกรรมการสวัสดิการ แต่ถ้าร้ายแรงกว่านั้น เช่น ร้องเรียนหัวหน้างานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะมาจากกลไกภายนอกผ่านเอ็นจีโอ ซึ่งเราต้องทำงานร่วมกันต่อไป

ขณะที่ นางสาวพักตร์พริ้ง บุญน้อม ตัวแทนจากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวว่า บริษัทมีแผนพัฒนาร่วมกันกับคู่ค้าตั้งแต่ปี 2015 แต่ถ้าจะให้เพิ่มความเข้มข้นอย่าง C188 ก็สามารถทำได้ เพียงแต่จะต้องทำบูรณาการร่วมกับหลายภาคส่วน อย่างไรก็ตาม เดิมซี.พี.ดำเนินการตามมาตรฐานอยู่แล้ว

พักตร์พริ้ง บุญน้อม

นอกจากนี้บริษัทยังได้เพิ่มการตั้งคณะกรรมการสวัสดิการตามที่กฎหมายโดยกำหนดให้แรงงานทุกๆ 400 คนสามารถเลือกตัวแทนตัวแทนได้ 1 คน มาเป็นคณะกรรมการเพื่อดูแลให้ครอบคลุมใน 4 ด้าน คือ เพศ เชื้อชาติ ศาสนา และความพิการ ซึ่งบริษัทมุ่งดำเนินการให้ครอบคลุมโรงงานทั้งหมด

นางเบ็ญจพร ชวลิตานนท์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดูแลแรงงานมี 8 ช่องทาง โดยใช้กลไกการร้องเรียนที่บริษัทมีอยู่จัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการเป็นช่องทางการร้องเรียนที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยที่คณะกรรมการสวัสดิการจะประชุมร่วมกับผู้บริหาร เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ยังเสริมด้วยการมี “Employee Caring Team” ซึ่งเป็นทีมดูแลพนักงานของบริษัทเพื่อพูดคุย/รับเรื่องร้องเรียนอีกทางหนึ่งด้วย ที่ผ่านมาสามารถแก้ปัญหาในเชิงปฏิบัติได้จริง เช่น ปัญหาความไม่เข้าใจในการสื่อสารระหว่างหัวหน้าและแรงงานข้ามชาติ

“หลาย ๆ เรื่องของพนักงานเกิดจากความเข้าใจผิดระหว่างพนักงานกับหัวหน้า ไม่รู้ล่ามแปลอย่างไร เราให้หัวหน้างานไปเรียนภาษาพม่าเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว บรรยากาศการทำงานดีขึ้น เพราะพูดภาษาเดียวกัน”

นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระบวนการตรวจสอบสถานประกอบการของภาครัฐก็ต้องเข้มข้นขึ้น เช่น พุ่งเป้าไปที่การตรวจสอบบริษัทที่ต้องสงสัยว่าจะมีปัญหา แทนการตรวจสอบบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีมาตรฐานอยู่พอสมควรแล้ว

ทั้งนี้ 18 พ.ย. 62 จะเริ่มเข้มงวดความปลอดภัยเรื่องระบบความปลอดภัยการทำงานภายใต้อนุสัญญาแรงงานประมงสากล (C 188) แต่ยอมรับว่าบางปัญหา เช่น การเก็บสถิติประกันสังคมจะอยู่ภายใต้ประกันสังคม ไม่ใช่อำนาจกรมสวัสดิภาพ ฉะนั้นจึงค่อนข้างซับซ้อน ส่วนร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ยังอยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกา คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี

“คณะกรรมการสวัสดิการเป็นหนึ่งในช่องทางการร้องเรียนกับบริษัท จะรวมตัวกันแบบสหภาพแรงงานก็ยังทำไม่ได้เนื่องจากรัฐบาลยังไม่รับรองอนุสัญญา ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เป้าหมายและความพอใจสูงสุดของเราคือรัฐบาลรับอนุสัญญา 87 และ 98”

นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า เมื่อแรงงานมีประเด็นร้องเรียน บริษัทมีกระบวนการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร และภาครัฐได้ตรวจสอบหรือไม่ว่าแต่ละบริษัทได้ทำตามกฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ หรือรอเพียงรายงาน 3 เดือนเท่านั้น

จุดยืนสำคัญของภาคีเครือข่ายฯ คือการสนับสนุนให้ประเทศไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งยอมรับในสิทธิเสรีภาพของแรงงาน ทั้งไทยและแรงงานข้ามชาติ ให้มีสิทธิรวมตัวเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน และเจรจา