โรดโชว์ดึงนักลงทุนจีน-สหรัฐ จ่อโปรโมตผังเมืองอีอีซีใหม่หนีเทรดวอร์

ผ่านผังเมือง EEC - ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ครั้งที่ 8/2562 เห็นชอบ (ร่าง) แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และ (ร่าง)แผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ EEC ระยะ 20 ปี

เปิดแผนดึงลงทุนครึ่งปีหลัง “สุริยะ” ผนึกทีมเศรษฐกิจโรดโชว์ดึงนักลงทุน “สหรัฐ-จีน” ปักหมุดในไทยหนีสงครามการค้าหลังยอดนักลงทุนสหรัฐหลุด top 10 “คณิศ”เตรียมโรดโชว์สหรัฐ-จีน หลังผ่านผังเมือง EEC ดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้า EEC ขณะที่เอกชนประเมินครึ่งปีหลังลุ้นมาตรการกระตุ้นเห็นผล 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าภายใน 2-3 เดือนนี้ เตรียมเดินทางไปชักจูงนักลงทุน (road show) ที่ประเทศจีนและสหรัฐ เพื่อดึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ภายหลังจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนยืดเยื้อ นักลงทุนต้องการหาแหล่งลงทุนประเทศอื่น

ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของไทย เพราะที่ผ่านมาไทยมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม มีแผนพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และจากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้หารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจไทย พยายามให้ได้สูงสุดแล้ว และอาจจะพิจารณาให้สิทธิประโยชน์เป็นรายกรณีอีกครั้ง

“เราจะใช้โอกาสนี้หารือกับนักธุรกิจทั้งจีนและสหรัฐ ทั้งรายเดิมและรายใหม่ว่าอยากให้รัฐบาลไทยช่วยอะไร หลายคนกังวลว่าเราจะดึงดูดการลงทุนมาไม่ได้ เนื่องจากเวียดนามถือเป็นคู่แข่ง แต่ถ้าดูปัจจัยทั้งหมดไทย คือ ฐานการผลิตยานยนต์ เราสามารถดึงคลัสเตอร์เข้ามาเป็นซัพพลายเชนจนครบ เพื่อป้อนให้กับทั่วโลกได้ เรามีจุดแข็งตรงนี้ และมี EEC เราจึงแข็งแกร่งกว่าเวียดนาม มั่นใจว่าเราจะไม่เสียเปรียบในครั้งนี้ แต่เราก็ต้องมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสมด้วย”

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุน บีโอไอจะไม่แบ่งว่าเป็นประเทศใดจึงจะได้สิทธิประโยชน์มากกว่า แต่จะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันคือ อุตสาหกรรม และกิจการหากเป็นเป้าหมายก็จะได้สิทธิตามกลุ่มที่จัดไว้ ซึ่งปัจจุบันคือยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคล 8 ปี และหากต้องการสิทธิประโยชน์เพิ่มนักลงทุนก็จะใช้การขอรับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) ได้สูงสุด 13 ปี โดยการร่วมทำวิจัยหรือจับมือทำกิจกรรมสำคัญสถาบันในพื้นที่

รายงานข่าวระบุว่า ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย. 2562)มี 758 โครงการ เพิ่มขึ้น 7% เงินลงทุน 232,610 ล้านบาท ลดลง 17% โดยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย. 2562) มีจำนวน 468 โครงการ เพิ่มขึ้น 4% เงินลงทุน 147,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 109% ในจำนวนนี้ จีนเป็นอันดับ 2 จำนวน 81 โครงการ เงินลงทุน 24,278 ล้านบาท

ขณะที่สหรัฐไม่อยู่ใน 10 อันดับแรกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีจำนวนโครงการรวม 433 โครงการ เพิ่มขึ้น26% เงินลงทุน 69,589 ล้านบาท ลดลง 37% ซึ่งจีนลงทุนเป็นอันดับ 5 จำนวน 47 โครงการ เงินลงทุน 4,710 ล้านบาท ส่วนสหรัฐ ลงทุนเป็นอันดับ 7 จำนวน 21 โครงการ เงินลงทุน 2,417 ล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯ EEC) กล่าวว่า จะเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาประกาศใช้ผังเมือง

อีอีซีตามที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ครั้งที่ 8/2562 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และ (ร่าง) แผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ EEC ระยะ 20 ปี (2560-2580) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรามีพื้นที่รวม 8,291,250 ไร่ แบ่งพื้นที่พัฒนาเป็น 4 กลุ่ม 11 ประเภท ได้แก่

1.พื้นที่พัฒนาเมือง 2.พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 3.พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม และ4.พื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากเดิมเป็นผังเมืองจังหวัดซึ่งยังไม่ได้เชื่อมโยงในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม หากประกาศบังคับใช้ไม่ทันเวลากำหนดในวันที่ 8 ส.ค. สามารถเลื่อนออกไปได้ แต่จะดำเนินการให้เร็ว หลังจากนี้ได้วางแผนโรดโชว์ที่ประเทศจีนและสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญ ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะดึงมาให้ได้

แหล่งข่าว สกพอ.เปิดเผยว่า ในสหรัฐอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สนใจลงทุนไทย และมีแนวโน้มที่จะชักจูงมาคือปิโตรเคมี ซึ่งแน่นอนว่าคือกลุ่มเอ็กซอนโมบิล ที่มีความสนใจลงทุนโรงกลั่นส่วนต่อขยายที่แหลมฉบังอยู่แล้ว อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการบิน-อากาศยาน และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ส่วนจีนจะมุ่งเป้าไปยังอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมยาง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนครึ่งปีหลังเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น จากที่จัดตั้งรัฐบาลและเดินหน้าแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด เช่นเดียวกันกับโครงการที่เกิดขึ้นใน EEC อย่างไรก็ตาม มีเพียงสิ่งเดียวที่เอกชนยังหวังให้เร่งรัดเรื่องการเร่งการใช้กฎระเบียบให้รวดเร็วขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุน