“สุริยะ” จ่อถก “อุตตม” ผลักดันใช้สินค้าที่ไทยผลิตในโครงการรัฐ 90%

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ที่ประชุมรับทราบถึงความต้องการของภาคเอกชนในครั้งนี้ โดยเฉพาะการผลักดันให้โครงการภาครัฐในส่วนของงานโยธา เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ใช้สินค้าที่ภาคอุตสาหกรรมไทยผลิต (Local Content) ไม่ต่ำกว่า 90% ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมหารือกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้กรมบัญชีกลางทำหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างต่อไป ส่วนสินค้าบางรายการที่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาผลิตเป็นสินค้า และอาจยังไม่มีมาตรฐาน ได้ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ กระทรวงฯ จะร่วมมือกับเอกชนยกระดับให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเอเชีย ด้วยการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเข้ากับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคเอเชีย เชื่อมโยงการขนส่งทางกายภาพ และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีด้วยการเร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาทต่อปี

โดยจะเริ่มการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อสนองตอบความต้องการภาคการผลิตและบริการ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางร่วมกับกระทรวงแรงงาน ในการพัฒนาและสร้างกลไกการ reskill ให้กับผู้ประกอบการในโรงงาน ให้สอดคล้องและรองรับเทคโนโลยีใหม่ การพัฒนาระบบอาชีวศึกษาและดึงเอกชนมาร่วมมืออย่างเต็มที่ รวมถึงผลักดันมหาวิทยาลัยให้ปรับตัว เพื่อผลิตบุคลากรที่จบแล้วมีงานทำมีรายได้สูง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การหารือวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดย ส.อ.ท. ด้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้ ยุทธศาสตร์ของ ส.อ.ท. 5 ด้าน คือ

1.สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม 2.เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย 3.ยกระดับ SMEs และส่งเสริม Made-in-Thailand 4.เสริมสร้างธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม 5.ยกระดับทักษะ ความรู้และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ส.อ.ท.ได้มีการนำเสนอแนวทางการส่งเสริม เพื่อกำหนดเป็นกรอบในการดำเนินงานร่วมกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมในทุกมิติ ดังนี้

1.การสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน ด้วยคณะอำนวยการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม โดยอาศัยกลไก ทั้งในระดับอุตสาหกรรมด้วยความเชื่อมโยงของ 11 สถาบัน และกลุ่มอุตสาหกรรม/คลัสเตอร์ และในระดับพื้นที่ด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 2.ผลักดันนโยบาย Made in Thailand เป็นวาระแห่งชาติ 3.เร่งการพัฒนา Ease of Doing Business ของทั้งภาครัฐและเอกชน

4.การพัฒนาระบบ Self – Declaration เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุมัติอนุญาตของกระทรวงอุตสาหกรรม และนำไปสู่การสร้างระบบ Big Data 5.การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน ที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ SMEs 6.การช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงสินเชื่อธนาคาร SME ด้วยระบบ Credit Score.