“วีรศักดิ์” เร่งเครื่องทำงาน เล็งฟื้นเศรษฐกิจฐานราก ร้านโชห่วย สินค้าจีไอชุมชน

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เชิญอธิบดีและผู้บริหารหน่วยงานภายใต้กำกับดูแล เข้ามาหารือผลักดันนโยบายไปสู่การปฎิบัติจริงทันทีที่รับทราบ 10 นโยบายเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ เพราะมีนโยบายถึง 6 ข้อ จาก 10 ข้อ ที่เกี่ยวข้องกับงานในกำกับดูแลของตน ซึ่งในฐานะที่กำกับดูแลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมทรัพย์สินทางปัญญา, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน), สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)

ในส่วนของภารกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากก็ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งรัดดำเนินการ 4 ด้านให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ 1) การให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจและประชาชน 2) พัฒนาร้านค้าปลีกรายย่อย (โชห่วย) เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจท้องถิ่น 3) ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP Select และ 4) เร่งสร้างและขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ รวมถึงการสร้างผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์

ในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเน้นส่งเสริมและคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานรากตามแนวนโยบายของรัฐบาล แม้ว่าปัจจุบันสินค้า GI ไทยทั้ง 111 รายการ จะสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดได้สูงถึง 5,300 ล้านบาท แต่ก็ต้องเดินหน้าเพิ่มมูลค่าการตลาดสินค้าเหล่านี้ให้สูงขึ้นไปอีก พร้อมกันนี้จะมีการจัดชุดลงพื้นที่ในลักษณะ Mobile Unit เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำในการจัดทำคำขอขึ้นทะเบียน GI แก่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งภารกิจดังกล่าวต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการควบคุมคุณภาพสินค้า และส่งเสริมช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศด้วย

นายวีรศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภารกิจด้านการค้าระหว่างประเทศ ได้มอบ 2 นโยบายหลัก ให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเร่งรัดดาเนินการในช่วงครึ่งหลังปี 2562 คือให้เดินหน้าจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าหรือ JTC กับประเทศคู่ค้าของไทย ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม บังกลาเทศ และอิรัก เป็นต้น รวมทั้งยังขอให้เร่งรัดสรุปผลการเจรจาเอฟทีเอที่ค้างอยู่ อาทิ การเจรจา RCEP (อาร์เซป), เอฟทีเอไทย-ปากีสถาน, เอฟทีเอไทย-ตุรกี และเอฟทีเอไทย-ศรีลังกา พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมสาหรับการเปิดการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู เพื่อขยายมูลค่าการค้าของไทยในเวทีการค้าโลก

ทั้งนี้ ในปี 2561 การค้าไทยกับโลกมีมูลค่า 501,758 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 9.5 ขณะที่ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) การค้าไทยกับโลกมีมูลค่า 241,998 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2.7


นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้อีก 3 หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน), สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) นำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และเสริมสร้างโอกาส และความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ให้สามารถแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ตามนโยบายของ รัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง