“สนธิรัตน์” ปรับแผน PDP ชูพลังงานบนดิน ฟื้น “ชีวมวลหญ้าเนเปียร์” 400MW

“สนธิรัตน์” ชูพลังงานบนดิน ฟื้น ‘หญ้าเนเปียร์’ ในแผนพีดีพีใหม่ คาดผลิตได้ถึง 400MW พร้อมหนุนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า 30% ปี’79 พัฒนานวัตกรรมไฟฟ้า ลดต้นทุนการผลิต สร้างไทยศูนย์กลางลงทุนพลังงานอาเซียน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “พลังงานเพื่ออุตสาหกรรมสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ครบรอบ 20 ปี สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่าไทยต้องดึงเอาจุดแข็งในด้านการเกษตรขึ้นมาพัฒนาไปสู่การสร้างพลังงานบนดิน โดยขณะนี้ได้เริ่มไบโอดีเซล และล่าสุดขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาทบทวนโครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากเนเปียร์ ตามนโยบายยกระดับพืชพลังงาน สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก จากนั้นจะนำข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งในการทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) โดยคาดว่าจะได้ผลสรุปภายใน 1 เดือน

“ทิศทางพืชพลังงานมีความสำคัญมากขึ้น ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ไม่ว่าจะเป็นไบโอดีเซล บี 10 หรือบี20 ซึ่งจะสามารถต่อยอดการใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตเป็นโอลิโอเคมิคอล บริหารจัดการดีมานด์ซัพพลาย ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าจาก กก.ละ 20 เป็น กก.ละ 100 บาทได้ ซึ่งหญ้าเนเปียร์ก็เช่นกัน เคยถูกบรรจุไว้ในแผน PDP2015 เดิม แต่ภายหลังถูกลดสัดส่วนลง มีศักยภาพน่าจะสามารถทำได้ 400-500 เมกะวัตต์”

พร้อมกันนี้จะส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าคิดเป็น 2 ใน 3 ของประเทศ หากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพช่วยในการลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ เพิ่มการอยู่รอดของเอสเอ็มอี

“แนวทางสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพนั้นภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนด้านต่างๆ เช่น ด้านการเงิน กองทุน การสนับสนุนโดยตรง มาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อให้เพื่อให้ค่าสัดส่วนความเข้มข้นของการใช้พลังงานต่อจีดีพี (หรือ Energy Intensity (EI) เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ดำเนินการต่อเนื่อง 5 ปี ลดได้ 8% เพิ่มเป็น 30% ในปี 2579”

ขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องมีมาตรการสนับสนุนด้านนวัตกรรมเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ทันเทคโนโลยีดิสรัปชั่น เช่น โซลาร์เซลล์ซึ่งเข้ามามีบทบาทต่อภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้ช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) เปลี่ยนจากเดิมช่วงกลางวันพีค ไปเป็นกลางคืน ซึ่งนวัตกรรม 3 ตัวที่จะต้องพัฒนา คือ ระบบจัดเก็บพลังงาน (Energy Storage) ระบบสายส่งอัจฉริยะ (Smart Grid) และการส่งเสริมเทคโนโลยีระดับชุมชน ซึ่งในอนาคตจะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟ (Prosumer) ดังนั้นเราจึงต้องเปิดโอกาสให้คนตัวเล็ก (เอสเอ็มอี) เป็นเจ้าของพลังงานได้ รวมถึงการส่งเสริมสตาร์ตอัพด้านพลังงาน ซึ่งมองถึงแพลตฟอร์ม และสมาร์ทมิเตอร์ด้วย

นายสนธิรัตน์เน้นย้ำว่า นโยบายยังมองเรื่องพลังงานเป็นของทุกคน (Energy for all) ไทยมีจุดแข็งสามารถเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของอาเซียนได้ เรามีโอกาสเป็นผู้นำไฟฟ้าและแก๊ส ซึ่งถ้าเราบริหารจัดการได้ดีจะทำให้เราสามารถควบคุมความมั่นคงด้านพลังงานอย่างแท้จริงและต้องเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดความมั่นคงลดต้นทุนด้านพลังงานให้ต่ำลง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

“หากไทยทำได้สำเร็จจะสามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศจนทำให้กลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านพลังงาน”

รายงานข่าวระบุว่า โครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากหญ้าเนเปียร์เกิดขึ้นประมาณช่วงปี 2555-2556 หญ้าเนเปียร์ถูกมองว่าเป็นพืชพลังงานที่มีอนาคตเป็นอย่างมาก เพราะนอกเหนือจากนำมาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์แล้ว ยังสามารถนำมาเป็นพืชพลังงานได้อีกด้วย ทั้งการผลิตก๊าซชีวภาพและการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีไฟเบอร์มากเมื่อนำมาเผาจึงให้ค่าความร้อนสูง โตเร็ว ให้ผลผลิตสูง และดูแลรักษาง่าย แต่ในภายหลังก็เงียบหายไป

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุดเพื่อนำมาใช้ในภาคการผลิต นำมาสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพิ่งทางภาคอุตสาหกรรมก็จะต้องปรับเปลี่ยน ตามนโยบาย Industry Transformation เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน


ทั้งนี้ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ได้ส่งเสริม สนับสนุน และให้บริการภาคอุตสาหกรรม ในการบริหารจัดการและอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยสามารถดึงโรงงานเข้าร่วมกิจกรรมได้มากกว่า 4,892 โรงงาน สามารถพัฒนาบุคลากร 25,435 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานอีก 588 คน กระทั่งสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 8,000 ล้านบาท โดยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 1,200 หน่วย ลดพลังงานความร้อน 8,000 หน่วย และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 955,000 ตัน