Kickoff ประกันรายได้ปาล์ม ชาวสวนฮือ-พ่อค้า ยิ้มรับส่วนต่าง

ในที่สุดรัฐบาลก็เริ่ม Kickoff การประกันรายได้เกษตรกรจากชุดนโยบายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เริ่ม “นำร่อง” แก้ปัญหาปาล์มน้ำมันกับยางพารา ที่กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำก่อนเป็นอันดับแรก จากการประชุมคณะทำงาน 3 ฝ่าย (รัฐ-เอกชน-เกษตรกร) ที่ประชุมมีมติร่วมกันที่จะดำเนินการประกันรายได้ให้ชาวสวนปาล์มน้ำมันโดยกำหนดราคาประกันเป้าหมายไว้ที่ กก.ละ 4 บาท

ชาวสวนปาล์มมีสิทธิได้รับเงินประกัน 25 ไร่ต่อครัวเรือนในกรอบการจ่ายเงินทุก ๆ 3 เดือนรวม 4 ครั้งหรือ 4 รอบต่อปี โดยเงินจะถูกจ่ายผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้เงินได้ส่งถึงมือชาวสวนปาล์มโดยตรง

มติที่ประชุมของคณะทำงานร่วม 3 ฝ่ายในชั้นนี้ยังถือเป็น “หลักการ” ประกันรายได้เกษตรกรแบบกว้าง ๆ เนื่องจากจะต้องนำข้อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ซึ่งมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

ทว่าในทางปฏิบัติการประกันรายได้กลับมีรายละเอียดที่จะต้องนำมาพิจารณามากกว่าที่จะ “รวบรัด” พูดคุยกันในคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบกับบทเรียนในการประกันรายได้ในอดีตที่ผ่านมา และใช่ว่าการประกันรายได้จะเป็นวิธีที่เหมาะสมกับทุกพืชเกษตรที่ล้วนมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ จากองค์ประกอบสำคัญของการประกันรายได้ที่จะต้องมี 5 ส่วน ได้แก่ ราคาประกันเป้าหมาย, ราคาอ้างอิง, ระบบจดทะเบียนเกษตรกรหรือการขึ้นทะเบียนเกษตรกร, กรอบระยะเวลาในการดำเนินการและแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ประกันรายได้ตามสูตรมาตรฐานที่เคยใช้กับการประกันราคาสินค้าเกษตร (ข้าวเปลือก)

ในอดีตที่ว่า (ราคาประกันเป้าหมาย-ราคาอ้างอิง) X ปริมาณผลผลิตที่จะเข้าร่วมโครงการ = เงินชดเชยที่เกษตรกรจะได้รับ โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “ราคาอ้างอิง” ที่จะต้องถูกประกาศออกมาเป็นรอบ ๆ ตามกลไกราคาตลาดภายในประเทศ ในขณะที่สินค้าเกษตรล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ commodities มีการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลกอย่างรวดเร็วเพียงแค่ชั่วข้ามคืนราคาก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคายางพารา) จากความกังวลที่ว่า ราคาอ้างอิงที่ถูกประกาศออกมาจะ “ไม่ทันต่อสถานการณ์ราคาตลาดโลก” ซึ่งจะมีผลได้ผลเสียต่อทั้งเกษตรกรและผู้ส่งออก

ยกตัวอย่าง การประกันรายได้ปาล์มน้ำมันที่พรรคประชาธิปัตย์มุ่งหมายนำร่องให้เป็นสินค้าแรกนั้น ในขณะนี้มีเพียงความชัดเจนในเรื่องของราคาประกันเป้าหมายที่กำหนดไว้ 4 บาท/กก.เท่านั้น ยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องของ “เกณฑ์” ราคาอ้างอิงจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และราคาอ้างอิงถูกกำหนดให้ประกาศตายตัวเป็นรอบ ๆ ทุก ๆ 3 เดือนหรือปีละ 4 รอบ มีความเหมาะสมกับธรรมชาติผลผลิตของปาล์มน้ำมันที่จะออกสู่ตลาดหรือไม่ เนื่องจากราคาอ้างอิงจะต้องถูกกำหนดให้เป็น “ตัวลบ” ราคาประกันเป้าหมายมีผลสำคัญยิ่งยวดถึงจำนวนเงิน “มากหรือน้อย” ที่ชาวสวนปาล์มควรจะได้รับ

นอกจากนี้ระบบจดทะเบียนเกษตรกรหรือการขึ้นทะเบียนเกษตรกรยังนำไปสู่ข้อขัดแย้งจากความจริงที่ว่า ยังมีเกษตรกรชาวสวนปาล์ม (รวมไปถึงสวนยางพารา) อีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องจากการบุกรุกป่า พื้นที่ทับซ้อนมาอย่างยาวนาน รัฐบาลจะบริหารจัดการกับเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเหล่านี้ให้ได้รับประโยชน์จากนโยบายการประกันรายได้อย่างไรรวมไปถึงปรากฏการณ์ “แตกโฉนด” ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางกับเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน แต่ต้องการรับเงินประกันรายได้ “มากกว่า” 25 ไร่ที่กำหนด ทั้ง ๆ ที่เป็นบุคคลที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับการประกันราคาข้าวเปลือกในอดีต

ความไม่ชัดเจนเบื้องต้นที่ยังไม่มีข้อสรุปได้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญในวงการปาล์มน้ำมันของประเทศขึ้นแล้ว จากสถานการณ์ราคาผลปาล์มในตลาดขณะนี้อยู่ที่ กก.ละ 2.50 บาท และมีความเป็นไปได้จากการคาดหมายที่ว่า รัฐบาลต้องการ “ชดเชย” ชาวสวนปาล์มจากการประกันรายได้ที่ กก.ละ 1.50 บาท ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (สิงหาคม 2562) ในตลาดโลกยังทรง ๆ อยู่ประมาณ กก.ละ 14.80-14.90 บาท (2,000-2,005 ริงกิต/ตัน) หรือ “ต่ำกว่า” ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 16-17 บาท เท่ากับราคาภายในและภายนอก “ต่างกัน” กก.ละ 1-2 บาท

จนมีการตั้งข้อสังเกตกันแล้วว่า จากส่วนต่างราคาน้ำมันปาล์มดิบภายในและภายนอกประเทศ กับเงินชดเชยรายได้จากการประกัน จะยังประโยชน์ให้กับผู้ที่มี “สต๊อกน้ำมันปาล์ม” ที่อาจมาจากการ “ลักลอบ” นำเข้าหรือไม่ หลังเกิดสิ่งผิดปกติจากปริมาณสต๊อกที่เชื่อกันว่ามีถึง 450,000 ตัน (ตัวเลขอย่างเป็นทางการของกรมการค้าภายในระบุ 280,000 ตัน) หากรัฐบาล “เลือก” ที่จะใช้เกณฑ์จำนวนผลผลิตปาล์มน้ำมันจากการคำนวณน้ำมันปาล์มดิบที่ชาวสวนขายให้กับโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ ทอนกลับมาเป็นจำนวนผลผลิต (ผลปาล์มทะลายต่อไร่) เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้ชาวสวนปาล์ม ซึ่งอาจจะเป็นชาวสวนที่ถูกสวมสิทธิ กลับกลายเป็นว่า ชาวสวนปาล์มตัวจริงไม่ได้รับเงินชดเชย เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด รัฐละลายเงินงบประมาณ พื้นที่ปลูกปาล์มขยายเพิ่มขึ้น และที่สำคัญก็คือ นโยบายประกันรายได้ไม่ได้ช่วยยกระดับราคาผลปาล์มแต่อย่างใด