รมช.พาณิชย์ชูนโยบายหลัก ฟื้นโชห่วยภูธร-ปราบก๊อบปี้

รมช.พาณิชย์ เสริมแกร่ง “โชห่วยภูธร” สร้างกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เดินหน้าอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดเวลาจดทะเบียนตั้งธุรกิจเหลือ 2.5 วัน เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าชุมชน พร้อมปราบปรามของก๊อบปี้เปลี่ยนพื้นที่สีแดงเป็นสีชมพู

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีคำสั่งแบ่งงานให้นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดูแลภารกิจในกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ส่วนนายจุรินทร์จะกำกับดูแลกรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า องค์การคลังสินค้า (อคส.) และสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งมอบนโยบายการทำงานกระทรวงพาณิชย์ 10 ด้านหลัก โดยในจำนวนนี้มุ่งพัฒนา “สมาร์ทโชห่วย” ปรับโฉมเป็นรูปแบบร้านสะดวกซื้อ สร้างความเข้มแข็งคู่ขนานกับโครงการธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งมีอยู่ 82,000 สาขา พร้อมทั้งส่งเสริมการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ การวางระบบ e-Filing การส่งเสริมการจดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประชุมมอบนโยบายกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยให้ศึกษาแนวทางฟื้นโชห่วยระดับอำเภอ ซึ่งมีอยู่ 795 อำเภอทั่วประเทศ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้โชห่วยในแต่ละอำเภอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ป้องกันปัญหาการผูกขาด จำกัดการแข่งขันโดยธุรกิจห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ราย

“ผมไม่ได้แอนตี้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่หรือโมเดิร์นเทรด แต่มองว่าโชห่วยเป็นกลไกขั้นกลางที่มีส่วนสำคัญในระบบค้าปลีก และที่ผ่านมามูลค่าตลาดค้าปลีกเพิ่มสูงขึ้นมาก จากปี 2557 มีมูลค่า 3 แสนล้านบาท ในเวลา 5 ปี เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาท โดยมีร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านสะดวกซื้อเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ในชุมชนหรือในท้องถิ่นก็ยังมีร้านค้าปลีกท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งสามารถพัฒนาต่อยอดได้ เช่น ร้านยงสวัสดิ์ ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ ใน อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ก็เป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นที่สามารถพัฒนาธุรกิจให้ยืนหยัดอยู่ได้ เป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น เราควรจะศึกษาว่ามีแนวทางอย่างไรให้ธุรกิจลักษณะนี้ในแต่ละอำเภออยู่ได้”

นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีแผนจะดำเนินการลดระยะเวลาการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลจาก 4 วันให้เหลือ 2.5 วันตามเป้าหมาย โดยสามารถลดระยะเวลาในขั้นตอนการยื่นประกันสังคม 1 วัน ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้ดำเนินการ และการขอเอกสารรับรองสถานะการเงินจากสถาบันการเงิน ในกรณีที่ผู้จดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท ซึ่งเดิมต้องมายื่นจดกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก่อนจึงไปขอเอกสารที่สถาบันการเงิน แต่หากปรับปรุงขั้นตอนให้เอกชนที่เข้าข่ายจดทะเบียนด้วยทุน 5 ล้านบาท ขอเอกสารมาก่อนแล้วจึงมายื่นจดทะเบียนกับกรม จะช่วยลดระยะเวลาไปได้ 1 วัน ซึ่งจะส่งผลดีต่ออันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business)

“กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังจะช่วยส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้ผู้ประกอบการในด้านต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมบริการสำหรับผู้สูงวัย การร่วมกับผู้ประกอบการ เช่น ปตท.จัดหาพื้นที่จำหน่ายสินค้าชุมชนตามโครงการไทยเด็ด ซึ่งแบ่งสัดส่วนพื้นที่ 40% ให้สินค้าชุมชนได้มีช่องทางจำหน่ายดำเนินการต่อเนื่องมา 70 สถานีบริการแล้ว”

พร้อมกันนี้ นายวีรศักดิ์ได้มอบนโยบายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่าง ๆ มากขึ้น พร้อมทั้งกำชับให้เพิ่มความเข้มงวดในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในพื้นที่เสี่ยง (สีแดง) เช่น ตลาดโรงเกลือ หรือตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะปรับลดการละเมิดให้กลายเป็นพื้นที่สีชมพู และเป็นพื้นที่ปลอดการละเมิด (สีเขียว) โดยเร็วที่สุด ซึ่งประเด็นจะส่งผลดีต่อการที่สหรัฐจะพิจารณาทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมาย 301 พิเศษในปี 2563