สูตรประกันรายได้ยางพาราไม่ลงตัว สั่งกยท.คำนวณใหม่ หวั่นรัฐจ่ายอ่วม 30,000 ล้าน

เกษตรฯเร่งหาสูตรประกันราคายาง การันตีไม่ต่ำกว่า 60 บาท/ไร่แน่ ตีกลับข้อมูลกยท.คำนวณอีกรอบ หวั่นรัฐบาลอัดงบเกินจำเป็นกว่า 30,000 ล้านบาท ขีดเส้น 21 ส.ค.ไฟเขียวก่อนชง ครม.

นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือโครงการประกันราคาเกษตรกรชาวสวนยาง ว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปแนวทางดำเนินโครงการประกันราคายางพารา เพราะต้องการรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหลักเกณฑ์และข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และแหล่งเงินทุน โดยได้ให้ กยท.สรุปแผนอีกครั้งเพื่อพิจารณาภายในวันที่ 21 ส.ค. ร่วมกับคณะกรรมการบอร์ดการยาง (กยท.)

สำหรับ ข้อตกลงรายละเอียดโครงการประกันราคาเกษตรกรสวนยาง ที่ประชุมสรุปเบื้องต้นเกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับการชดเชยรายได้จากการจำหน่ายยางพาราแผ่นรมควันชั้น 3 ไม่ต่ำกว่ากิโลละ 60 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยมีพื้นที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ส่วนยางแผ่นดิบคุณภาพดี 58 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด 56.50/กิโลกรัม ซึ่งมาตรการประกันราคาดังกล่าวจะเป็นเพียงมาตรการเสริมเท่านั้น แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้ กยท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการอื่น ๆ อีกเพื่อสร้างเสถียรภาพราคายางในระยะยาวได้ โดยใช้งบประมาณของรัฐบาลให้น้อยที่สุด ขอภาครัฐในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ อาทิ กระทรวงคมนาคม มีการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมของอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยอื่น ๆ เช่น แผงกั้นจราจร (Barrier) ทำให้สามารถผลักดันยางพาราจำนวน 800,000 ตันออกตลาดได้ และกรมชลประทานจะนำผลผลิตยางพารามาพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน อาทิ บล็อกผักตบชวา ฝายยางพารา โดยจะมุ่งเน้นแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการระบายยางออกจากตลาดให้ได้มากที่สุด โดยตั้งเป้านำยางออกมาใช้ในภาครัฐ 1 ล้านตัน

“มาตรการที่ได้หารือวันนี้ที่ชัดเจนจะมียางออกจากตลาดเกินกว่า 1 ล้านตัน และยางในประเทศจะขยับสูงขึ้นอย่างแน่นอน โดยคมนาคมใช้ 8 แสนตัน ซึ่งแนวทางเช่นนี้อาจไม่จำเป็นต้องนำมาตรการประกันรายได้มาเสริมอีก ส่วนประกันราคาเราตั้งเป้าที่ 60 บาทอยู่แล้วเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ทำแน่นอน แต่ต้องมีการประชุมอีกครั้งก่อน”

ทั้งนี้ แหล่งข่าวกยท.ระบุว่า หากรัฐบาลจะอนุมัติมาตรการดังกล่าว จะต้องใช้งบถึง 30,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้เน้นย้ำนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรไว้ 3 พืช ได้แก่ ข้าว ยาง ปาล์ม ประมาณ 16,000 ล้านบาท ดังนั้น การที่จะประกันราคายางที่ 60 บาท/กก. รายละไม่เกิน 25 ไร่ อาจเป็นงบประมาณที่สูงเกินไปประกอบกับยังไม่สามารถระบุแหล่งเงินทุน และเเนวทางนำเงินการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพาราออกนอกราชอาณาจักร (CESS) เพื่อนำมาประกันราคายางได้ หรือไม่ รวมทั้งต้องมีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์และข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร จึงยังต้องมีการสรุปอีกครั้งโดยให้กยท.รวบรวมแล้วนำมาเสนอบอร์ดกยท.โดยมีนายเฉลิมชัยเป็นประธานในวันพุธที่ 21 ส.ค. เเล้วจึงจะสามารถเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก่อนเสนอครม.พิจารณา