SCG ทุ่ม 2,400 ลบ. ตั้งโรงงานกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมอีอีซี ล้ำสุดในอาเซียน

SCG ทุ่ม 2,400 ล้านบาท ตั้งโรงงานกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยอง ล้ำสุดในอาเซียน กำลังผลิต 65,000 ตัน ดีเดย์เริ่มทดสอบเครื่อง ธ.ค.นี้ ก่อนเปิดเดินระบบปี’63 ตั้งเป้ารายได้ปีแรก 500 ล้านบาท

นายชนะ ภูมี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจซิเมนต์และคอนสตรัคชั่น (Vice President-Cement and Construction Solution Business)บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวถึง บริษัทพัฒนาโรงกำจัดกากอุตสาหกรรม และหน่วยผลิตไฟฟ้า ขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และนโยบาย Zero Waste to Landfill มาใช้เพื่อนำวัตถุดิบบายโปรดักซ์จากการผลิตหมุนกลับมาใช้ใหม่ ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

สำหรับโรงงานนี้ใช้งบประมาณลงทุน 2,400 ล้านบาท และได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนลดภาษีนิติบุคล 8 ปี โรงงานนี้มีกำลังผลิต 65,000 ตัน คาดว่าจะเริ่มทดสอบระบบในเดือนธันวาคมนี้ และเริ่มดำเนินการจริงในปี 2563 เบื้องต้นคาดว่าจะมีรายได้ รวม 500 ล้านบาท จากการรับกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม 200 ล้านบาท และรายได้จากการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเข้าสู่ระบบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีก 7 เมกะวัตต์ ราว 300 ล้านบาท

“ก่อนหน้านี้ SCG มีเอสซีไอ อีโค่เซอร์วิส จำกัด ที่สระบุรี รับกำจัดกากอุตสาหกรรมดำเนินการรับกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมมานานกว่า 20 ปี เรามองถึงการปรับเปลี่ยนมายด์เซ็ท เรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ในกระบวนการผลิตซีเมนต์ปกติใช้ความร้อนสูง 1,300-1,400 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถนำขยะอุตสาหกรรมมีเผาลดปัญหากากอุตสาหกรรมที่บริหารจัดการที่ไม่เหมาะสมให้หมดไป จึงมีโรงงานแห่งใหม่นี้เกิดขึ้นเพื่อกระจายให้กับลูกค้าในนิคมมาบตาพุด และลูกค้าบริเวณโดยรอบ ซึ่งน่าจะมีจำนวนนับร้อยแห่ง”

นายศาณิต เกษสุวรรณ Business Stakeholder Engagement Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด
กล่าวถึง การนำเทคโนโลยี ‘Gasification with Ash Melting’ ที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน จากเทคโนโลยีของโกเบลโค ประเทศญี่ปุ่น และระบบกำจัดโลหะหนักของเยอรมัน ซึ่งทำให้สามารถแยกและกำจัดกากให้หมดตามาตรฐานญี่ปุ่น

นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ Business Stakeholder Engagement Deputy Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด กล่าวว่าขั้นตอนการดำเนินการของโรงงานตั้งแต่การรับกากอุตสาหกรรมมาจนถึงกระบวนการเผาจะเป็นระบบปิดทั้งหมด และควบคุมตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม

“กลุ่มเป้าหมายคืออุตสาหกรรมในมาบตาพุด และลูกค้าใน จ.ระยอง ชลบุรี จะช่วยเรื่องการลดขยะอุตสาหกรรมและการนำบายโปรดักซ์มาใช้ให้คุ้มค่า แต่ต้องยอมรับว่าการลงทุนในโรงงานประเภทนี้ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนสูง และจะเห็นผลเรื่องความยั่งยืนในระยะยาว”

ทั้งนี้ กระบวนการดำเนินการ ประกอบด้วย 1) การตรวจสอบองค์ประกอบของกาก 2) การแยกไซส์และประเภทกากของเสียอันตรายและไม่อันตรายเตรียมกำจัด ต้องเป็นไปตามการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สอดคล้องกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)3)เถ้าจากการเผาสามารถนำไปหลอมรวมเป็นเม็ดกรวด นำไปผสมเป็นคอนกรีตก่อสร้าง และบายโปรดักซ์ที่เป็นส่วนผสมสำหรับใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์