‘บีโอไอ’ งัดกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ 10,000 ล้าน ดึงลงทุนก่อนหนีไทยไปเพื่อนบ้าน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมี พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสาหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. เพิ่มขีดความสามารถฯ หรือกองทุน 10,000 ล้านบาท) เป็นเครื่องมือหนึ่งในการให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุน แต่การพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 15 ปีนั้น จะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่มีอิมแพคต่อประเทศสูงจริงๆ

ซึ่งแน่นอนว่ามีบริษัทที่ยื่นขอเข้ามา แต่กระบวนการพิจารณาต้องใช้เวลายาว เพื่อให้มั่นใจว่า สิทธิประโยชน์ต่างๆที่ให้ไปเหมาะสม เป็นอุตสาหกรรมที่ตรงกับกฎหมายกำหนด

ขณะที่ทางด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้กำชับให้บีโอไอใช้ กองทุนฯ 10,000 ล้านบาท ดังกล่าวมาเป็นตัวดึงดูดนักลงทุน ก่อนที่เขาจะย้ายฐานไปประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม

สำหรับ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสาหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 มีผลบังคับตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2560 ซึ่งได้กำหนด อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ. เพิ่มขีดความสามารถฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศและสร้างประโยชน์อย่างสูงต่อเศรษฐกิจ และสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องเป็นอุตสาหกรรมประเภทใหม่ ที่ไม่เคยมีการผลิตหรือการให้บริการในประเทศมาก่อน หรือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ หรือใช้ความรู้ในการผลิตขั้นสูงเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนา และส่งเสริมนวัตกรรม

ทั้งนี้ ลักษณะของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้สิทธิและประโยชน์ตาม พ.ร.บ. เพิ่มขีดความสามารถฯ นี้ จะเป็นไปตามประกาศของ คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสาหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (คณะกรรมการนโยบายฯ) ซึ่งจะได้มีการประกาศต่อไป

สำหรับสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ. เพิ่มขีดความสามารถฯ ได้แก่ 1.สิทธิและประโยชน์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน แต่ไม่รวมถึงสิทธิและประโยชน์ในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล

2.สิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากรตาม พ.ร.บ. เพิ่มขีดความสามารถฯ ดังต่อไปนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สูงสุดไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการดังกล่าว

อนุญาตให้นำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้น ในระหว่างระยะเวลาที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นในภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยมีกำหนดเวลาไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลานั้น โดยสามารถเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้

เงินปันผลจากกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว รวมถึงเงินปันผลที่ได้จ่ายภายใน 6 เดือนนับแต่วันพ้นระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

สิทธิและประโยชน์ในการได้รับเงินสนับสนุนจาก “กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสาหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย” โดย คณะกรรมการนโยบายฯ อาจพิจารณาให้เงินสนับสนุนจากกองทุนผู้ได้รับการส่งเสริมเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรม หรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ หากผู้ได้รับการส่งเสริมสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนดไว้แล้ว

โดยเมื่อมีการกำหนดประเภท และลักษณะของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้สิทธิประโยชน์ภายใต้ พ.ร.บ. เพิ่มขีดความสามารถฯ แล้ว หากคณะอนุกรรมการสรรหาและเจรจาเห็นว่า มีผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายสมควรได้รับการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ. เพิ่มขีดความสามารถฯ นี้ (ผู้ประกอบกิจการฯ) ให้สานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แจ้งผู้ประกอบกิจการฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจาโดยยื่นข้อเสนอโครงการลงทุนต่อบีโอไอฯ และคณะกรรมการนโยบายฯ ต่อไป