ขอถมทะเลตั้งโรงกลั่น-ปิโตรเคมี ทูตUSพบ”สุริยะ”กางแผนลงทุนเอ็กซอน

แฟ้มภาพ

“ปีเตอร์ เฮย์มอนด์” รักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐ พบ “สุริยะ” ย้ำภาพลงทุน “เอ็กซอนโมบิลฯ” 330,000 ล้านบาท ไม่ได้มาเล่น ๆ เตรียมกางรายละเอียดหารือส่วนตัวอีกครั้งก่อนประสาน กนอ. บีโอไอ หาช่องหนุนทำ EIA ให้ทันปี’62 ชูไทยพร้อมเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนโบอิ้ง หลังจากนี้เอกอัครราชทูต 4 ประเทศ JETRO-METI พาเหรดเข้าพบขอเป็นต้นแบบ circular economy 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าพบเพื่อยืนยันแผนการลงทุนของบริษัท เอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งในการขยายพื้นที่โครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน และโรงผลิตแครกเกอร์สำหรับผลิตปิโตรเคมีในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) บริเวณใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พื้นที่ 1,000 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 330,000 ล้านบาท

ขณะนี้การนิคมอุตสาหกรรมฯ (กนอ.) ได้ขอเวลาในการศึกษาการถมทะเลแล้ว ซึ่งการถมทะเลในการศึกษาและแนวทางการถมทะเลในต่างประเทศสามารถทำได้อย่างที่ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ขณะที่เรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นมีแผนรองรับและสามารถป้องกันได้ คาดว่าจะสรุปแผนก่อสร้างโรงงานครั้งนี้ได้ภายใน 3-4 เดือนนี้ หรือภายในปี 2562 นี้ จากนั้นจะเริ่มดำเนินการศึกษา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้านในพื้นที่ควบคู่กันไป

“การเข้าพบครั้งนี้นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ ในฐานะที่เป็นคนดูแลนักธุรกิจที่มาลงทุนในไทย ต้องการอยากให้รัฐบาลไทยช่วยสนับสนุน โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม และ กนอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาพื้นที่ถมทะเลอยู่ ซึ่งรัฐบาลไทยยินดีให้การสนับสนุนและขอให้ตัวแทนของบริษัทเอ็กซอนฯเข้ามาหารือถึงรายละเอียดของโครงการอีกครั้ง

จากนั้นจะประสานหารื้อกับ กนอ.ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ และหารือส่วนของการทำ EIA กฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต่าง ๆ ว่าต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะพยายามสนองความต้องการให้เอ็กซอนฯและสั่งการให้ถูก เพราะการลงทุนขนาดใหญ่กว่า 330,000 ล้านบาทนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับไทย”

ทั้งนี้ ทางสถานทูตอเมริกันยังขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกันส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพราะเชื่อว่ายังคงมี SMEs ของสหรัฐที่อยากลงทุนในไทยอยู่ โดยส่วนใหญ่เป็นประเภทกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ของไทยเช่นกัน

และตามนโยบายที่รัฐบาลไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางด้านการบิน และมีทั้งโครงการตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน และสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินต่าง ๆ ในพื้นที่ EEC ด้วยศักยภาพของไทยเองสามารถเป็นผู้ผลิตที่นั่งหรือเบาะเครื่องบินได้ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะเข้าไปเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับบริษัทโบอิ้ง ซึ่งปัจจุบันการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินจะมีการแบ่งบางส่วนไปผลิตที่ญี่ปุ่นและประกอบ ซึ่งไทยน่าจะมีความสามารถทำได้เช่นกัน

“ในส่วนของโบอิ้งเองเขาไม่ได้มีแผนจะมาลงทุนผลิตอะไรโดยตรงที่ไทย แต่เขายินดีถ้าไทยสามารถผลิตเบาะที่นั่งสำหรับเครื่องบินให้โบอิ้งได้ การคุยกับทูตครั้งนี้มันจะเป็นการเปิดโอกาสและหาผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เครื่องบินเพื่อให้โบอิ้งในอนาคต”

การหารือยังได้กล่าวถึงผลกระทบจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งทางสหรัฐไม่ได้ต้องการให้เกิดและพยายามประคับประคองสถานการณ์ แต่ด้วยการที่สหรัฐเสียดุลการค้าไปมาก และยังคงต้องการอยากให้สงบโดยเร็ว ขณะที่ไทยเองจะใช้โอกาสนี้ไปดึงดูดนักลงทุนจากสหรัฐมา แต่อย่างไรก็ตาม นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ ได้กล่าวย้ำว่า แม้ไทยจะไม่มีเรื่องสงครามการค้านี้ แต่ไทยมีโครงการดี ๆ นักลงทุนก็สนใจมาลงทุนไทยอยู่แล้วโดยเฉพาะใน EEC

นอกจากนี้ ตัวแทนทูตแต่ละประเทศ อาทิ แคนาดา เปรู นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ทยอยเข้าพบ ซึ่งทางนอร์เวย์มีความชำนาญด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ซึ่งมีข้อเสนอให้ไทยเรียนรู้และขอเป็นต้นแบบให้ไทย และเร็ว ๆ นี้องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ : JETRO) เตรียมเข้าพบหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมรวมถึงกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) ที่สนใจและต้องการหารือถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งคาดว่าอาจเดินทางไปพบกันที่ญี่ปุ่นเร็ว ๆ นี้เช่นกัน

รายงานข่าวระบุว่า ในโอกาสที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ จะเดินทางมาประชุมมอบนโยบายต่อผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ ทางกระทรวงอุตฯ เตรียมจะรายงานผลการหารือร่วมกับสหรัฐ

และภารกิจงานที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่องทั้งการกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังในกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve การสานต่อกองทุนเอสเอ็มอีเพื่อเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี การดำเนินการตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการเรื่องเหมืองทองอัคราฯ