“Shell Forum 2019” ย้ำภาพการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานอนาคต

Shell Forum 2019 ย้ำภาพ แบบจำลอง “Sky Scenario” รับมือการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงาน 4.0 พลังงานทางเลือก-การกำหนดราคาคาร์บอน จูงใจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก – ปลัดพลังงาน “กุลิศ” ชี้เทรนด์อาเซียนลงทุนพลังงานทดแทน 3.3 ล้านบาท ในปี 2050 ไทยชูโนบาย 4 ด้านเปลี่ยนผ่านพลังงานอนาคต ล่าสุด ตั้งคกก.ศึกษาโซนนิ่งพื้นที่สายส่ง เตรียมปักหมุมโครงการ 1 ชุมชน 1 ไฟฟ้าทางเลือก คู่ขนานปรับแผน PDP คาดได้ข้อสรุปเดือนหน้า – ปรับภาพลักษณ์กองทุนอนุรักษ์ 12,000 ล้าน มุ่งปั้นสตาร์ทอัพลุยนวัตกรรม

นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวในงานสัมมนา 2019 Shell Forum ซึ่งจัดขึ้นในวันนี้ว่า จากเมื่อปีก่อน บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ได้เปิดตัวผลการศึกษาแบบจำลอง “Sky Scenario” (Sky) บนเวที Shell Forum 2018 ถือเป็นส่วนหนึ่งของเชลล์ ประเทศไทย ในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ภายใต้กลยุทธ์พลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม (More and Cleaner Energy) เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่าน สู่ยุคพลังงาน 4.0 ซึ่งประเทศไทยยังต้องเผชิญความท้าทายจาก 7 เรื่อง เช่น การปรับทัศนคติของผู้บริโภคจะทำอย่างไร การสร้างกลไกคำนวณราคาคาร์บอน การพัฒนาระบบกักเก็บคาร์บอน เป็นต้น

สำหรับแบบจำลอง “Sky Scenario” มุ่งนำเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ทั้งด้านภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และ เทคโนโลยี ในการบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสคอนเวนชั่น ที่ตั้งเป้าหมายร่วมกันในการรักษาอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส

“ในปีนี้ได้นำเสนอแนวทางปฏิบัติตามแบบจำลองในเชิงลึกมากขึ้น ทั้งเรื่องการกำหนดราคาคาร์บอน การปลูกป่า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกักเก็บคาร์บอน ตลอดจนการบริหารจัดการที่ดิน การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ รวมไปถึงการเติบโตของแหล่งพลังงานใหม่ เช่น พลังงานทดแทนทั้งพลังงานโซลาร์เซลล์ และไฮโดรเจน”

ดร.มัลลิกา อิชวารัน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส และที่ปรึกษาด้านนโยบายของเชลส์ กล่าวว่า การใช้แบบจำลอง Sky Scenario จะทำให้การลดอุณภูมิโลกเป็นไปตามเป้าหมายว่าแต่ละปีอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส โดยพลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วนมากขึ้นจาก 20% เป็น 50% ในปี 2070 โดยปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2030 คาดว่าจะมี 10% และเพิ่มเป็น 9 ใน 10 คันในปี 2040 ดังนั้นจำเป็นต้องพัฒนาระบบสายส่ง การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน พลังงานรูปแบบใหม่ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งจะต้องมองไปถึงการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เพื่อวางระบบการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการการใช้ที่ดิน การปลูกป่าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบกักเก็บคาร์บอนและมาตรการส่งเสริม เช่น การกำหนดราคาคาร์บอนซึ่งปัจจุบันราคาเพียง 10 เหรียญสหรัฐฯต่อตันคาร์บอน แต่มีแนวโน้นที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 100-200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันคาร์บอน ในปี 2070 เพื่อจูงให้เกิดการกักเก็บ และการปรับทัศนคติของผู้บริโภคผู้ประกอบการในการปรับโมเดลธุรกิจ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงมีนโยบายสำคัญเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานในช่วงเทคโนโลยีดิสนัปชั่น โดยจะดำเนินการเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้สอดรับกับเทรนด์โลก การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน การส่งเสริมการใช้พืชเศรษฐกิจนำไปผลิตพลังงาน สร้างรายได้ให้ฐานราก การใช้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในการส่งเสริมสตาร์ทอัพและนวัตกรรม การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเพิ่มการใช้ถ่านหินสะอาด รวมถึงการวางแนวทางการฝุ่นละออง PM2.5 ในอนาคต

“รองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มอบให้กระทรวงดำเนินการพัฒนาพืชเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นทลายปาล์ม ซังข้าวโพด อ้อย ไม้ยางพารา มาเป็นพลังงาน ล่าสุดขณะนี้กำลังพิจารณาจัดทำแผนการสร้างโรงไฟฟ้า 1 ชุมชน 1 พลังงานทดแทน เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ผมเป็นประธาน ผู้อำนวยการ สนพ.เป็นฝ่ายเลขา ศึกษาโซนนิ่งว่าโครงสร้างสายส่งทั่วประเทศที่มีอยู่จะเพิ่มจากเคยเป็นถนนไฮเวย์เป็นซุปเปอร์ไฮย์เวย์รองรับแผนการขยายโรงไฟฟ้าชุมชนอย่างไร เป็นการพัฒนาแบล็คโบนของประเทศ ตานแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2018) กำหนดว่าอีก 8 ปีจึงมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ายาวนานเกินไป ทางนโยบายให้ทบทวนแผน PDP 2018″

ประเด็นที่คณะต้องศึกษาคือโซนนิ่งสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร ดูแต่ละภาคเหนือ อิสาน ใต้ และมีกำลังเหลือพอรองรับโรงไฟฟ้าชุมชนได้หรือไม่ พร้องทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วน เช่น ทางคณะกรรมการการกำกับกิจการพลังงานจะมาดูเรื่องการทำแซนบอกซ์ กำหนดพื้นที่รับซื้อ การออกใบอนุญาต ทางสำนักงาน สภาพัฒฯ กระทรวงการคลัง รวมถึงกระทรวงมหาดไทยจะเข้ามาดูแลร่วมกันด้วย

ขณะที่ภาคเอกชนทางกลุ่มพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะมาช่วยดูว่าเรื่องนี้ร่วมด้วย อาจจะวิเคราะห์ว่าแต่ละชุมชนเหมาะสมที่จะผลิตไฟฟ้าจากพืชพลังงานใด ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวคาดว่าจะสรุปได้ในเดือนหน้า

ส่วนเรื่องการพัฒนาสตาร์ทอัพ จะใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานซึ่งมีอยู่ปีละ 12,000 ล้านบาท เข้ามาสนับสนุน เริ่มจากการจัดสรรงบประมาณกองทุนในปี 2563 นี้ โดยเน้นไปที่สตาร์ทอัพ เทคโนโลยีใหม่ๆ AI ซึ่งเป็นการปรับภาพลักษณ์การใช้เงินกองทุนให้เกิดความคุ้มค่ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้แต่ละหน่วยงานก็มีโครงการนี้บ้างแล้ว เช่น ปตท.มีเอสเพรสโซ่ที่ให้กลุ่มคนรุ่นใหม่มาร่วมกันวางแนวทางพัฒนาสตาร์ทอัพ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีการจัดสรรงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาปีละ 10% อยู่แต่จะเน้นการลงทุนสตาร์ทอัพ เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และนำไปสู่การลดค่าไฟฟ้าเอฟที

นายกุลิศกล่าวเน้นย้ำว่า แนวโน้มการใช้พลังงานทดแทนจะมีความสำคัญมากขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วน 19% จะเพิ่มเป็น 40% ในปี 2050 โดยพลังงานไฟฟ้าจะเป็นพลังงานหลัก และมีการคาดการณ์ว่าอาเซียนจะมีการลงทุนด้านนี้ 3.3 ล้านล้านบาท หรือ 2% ของจีดีพีโลกในปี 2050 ซึ่งจะมีทั้งลงทุนเพื่อพัฒนาพลังงานทดแทน และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

“การเปลี่ยนผ่านพลังงานถือเป็นเรื่องที่ใช้เวลานาน แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านไปแล้วมันจะเร็วมาก คล้ายเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เปลี่ยนผ่านจาก 2G ไป 3G และ 4G