แล้งดันรายได้ ‘อีสท์ วอร์เตอร์’ปิดไตรมาส2 พุ่ง 12.79% อีก 5 เดือน จ่อปรับโครงสร้างราคาน้ำใหม่

แล้งดันรายได้ ‘อีสท์ วอร์เตอร์’ ปิดไตรมาส2/62 พุ่ง 12.79% กำไร 609.48 ล้านบาท เดินหน้าบริหารจัดการน้ำครบวงจรรับอีอีซี-แล้งดีมานต์เพิ่ม อีก 5เดือน จ่อปรับโครงสร้างราคาน้ำรับกฎหมายใหม่ ลอนซ์แคมเปญ URD 1 ม.ค.63 เตรียม

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอร์เตอร์ เปิดเผยว่า ผลสถานการณ์ภัยแล้ง จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ปริมาณฝนตลอดฤดูฝน จะต่ำกว่าค่าปกติ 5-10% ส่งผลดีต่อรายได้ในช่วง 6 เดือนแรก เพราะลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมมีความต้องการน้ำมากขึ้นกว่าปกติ จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำรองของลูกค้าที่เคยเก็บสำรองไว้มีปริมาณลดลง ประกอบกับบริษัทได้เตรียม 6 แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจึงมั่นใจได้ว่าปีนี้จะไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำในอุตสาหกรรมแน่นอน (ตาราง)

ล่าสุดผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก มีรายได้จากการขายและบริการ 2,360.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 267.68 ล้านบาท เนื่องจากจำหน่ายน้ำดิบในปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีกำไรจากการดำเนินการ 609.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.97% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 28.85 ล้านบาท สัดส่วนรายได้จากการขายน้ำดิบ 60% น้ำประปา 31% และอื่นๆ 9%

ทั้งนี้ ยอดปริมาณการจ่ายน้ำดิบครึ่งปีแรก มีปริมาณ 157.23 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 33.66 ล้าน ลบ.ม. จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 123.57ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำสำหรับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม 47% กลุ่มอุปโภค 26% และสวนอุตสาหกรรม 12% กิจการประปาของบริษัท 10% กลุ่มโรงงานทั่วไป 5% มีรายได้จากการขายนํ้าดิบสำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2562 จำนวน 1,429.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 244.80 ล้านบาท หรือ 20.66% เมื่อเปรียบเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2561 สาเหตุหลักจากรายได้นํ้าดิบที่เพิ่มขึ้นจากการใช้นํ้าของกลุ่มลูกค้าอุปโภคบริโภค

“ปี 2562 อีสท์ วอเตอร์ เน้นดำเนินธุรกิจสู่การเป็นผู้นำของการให้บริการน้ำแบบครบวงจรของประเทศ ทั้งเรื่องการบริการจัดหาแหล่งน้ำดิบ บริการด้านการลงทุนวางท่อน้ำดิบ และบริหารจัดการน้ำดิบให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้น้ำ การให้บริการติดตั้งระบบผลิตน้ำอุตสาหกรรม ควบคุมคุณภาพน้ำที่ส่งจ่ายให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้น้ำแต่ละอุตสาหกรรม ให้บริการด้านบริหารกิจการประปาทั้งในระบบประปาผิวดินและระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในระบบให้บริการอย่างครบวงจร“

สำหรับแนวทางป้องกันและลดปัญหาภัยแล้ง 6 ด้าน เช่น การสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปยังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ การสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำและรักษาความสมดุลของอ่างเก็บน้ำผ่านโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบความยาว 491.8 กิโลเมตร

นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำจากแหล่งน้ำเอกชนเข้ามาเสริมในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา มีการสำรองน้ำจากแม่น้ำบางปะกงเข้าอ่างเก็บน้ำบางพระในช่วงเดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน มีการประสานงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เน้นการปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนหลักต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยจะดำเนินการในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม หรือในช่วงเวลาที่เหมาะสม

พร้อมกันนี้ อีสท์ วอเตอร์ได้มีการให้บริการน้ำอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี มีโครงการก่อสร้างระบบผลิตน้ำอุตสาหกรรมให้แก่นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ จ.ระยอง โดยมีเป้าหมายก่อสร้างระบบผลิตน้ำอุตสาหกรรมเสร็จในปี 2563 ปริมาณขั้นต่ำประมาณ 5.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โครงการก่อสร้างระบบผลิตน้ำอุตสาหกรรมให้แก่โรงไฟฟ้ากัลฟ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง โดยมีเป้าหมายก่อสร้างระบบผลิตน้ำอุตสาหกรรมเสร็จในปี 2564 ปริมาณเฉลี่ยสูงสุด 22 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

และได้ทำสัญญาบริการน้ำในโครงการงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสียพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ให้บริการน้ำครบวงจรทั้งน้ำประปา 20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน การบำบัดน้ำเสีย 16,000 ลูกบาศก์เมตร และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ 4,000 ลูกบาศก์เมตร โครงการให้บริการน้ำครบวงจร นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปา 19,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวันและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ที่กำลังการบำบัด 6,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โครงการให้บริการบำบัดน้ำเสีย แก่ราชบุรีกล๊าส อินดัสทรี ให้บริการน้ำระบบบำบัดน้ำเสีย 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โครงการให้บริการบำบัดน้ำเสียแก่ อยุธยากล๊าส อินดัสทรี 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน นอกจากนี้ยังมีการหาโอกาสในธุรกิจอย่างต่อเนื่องในการให้บริการแก่พื้นที่นอกเขตอีอีซีด้วย

นายจิรายุทธ กล่าวว่า บริษัทเตรียมจะประกาศปรับโครงสร้างราคาค่าน้ำใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อสะท้อนต้นทุนการสูบน้ำของแต่ละพื้นที่ และแต่ละประเภทกิจกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำทำให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกิดประสิทธิภาพและยั่งยืน ทั้งนี้ ในไตรมาส 4 นี้ บริษัทจะประกาศอัตราค่าน้ำใหม่

“แนวโน้มความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ ให้การใช้ทรัพยากรคุ้มค่า โครงสร้างนี้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเก็บกักน้ำเผื่อจนเกินความจำเป็น แต่เราจะทำสัญญาล่วงหน้าว่าต้องการน้ำเท่าไร ซึ่งบริษัทก็มีหน้าที่การันตีต้องหาน้ำมาให้เพียงพอ ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุลและแข่งขันได้”

นายบดินทร์ อุดล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ กล่าวว่า จากปรับโครงสร้างราคาค่าน้ำใหม่ บริษัทเตรียมจะออกแคมเปญ URD เพื่อให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างถูกต้อง(Usage) การใช้น้ำอย่างยั่งยืน (Reserve) และการใช้น้ำให้พอดี (Demand) เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดข่าวภัยแล้งเกิดความตระหนก (Panic) ทุกคนต่างแจ้งปริมาณความต้องการใช้น้ำเกินจริง เพื่อไปเก็บสต็อก ซึ่งยิ่งทำให้สถานการณ์เกิดความเป็นจริง และเป็นเหตุให้ต้องเพิ่มต้นทุนการสูบน้ำ และมีผลต่อราคา นอกจากนี้การปรับโครงสร้างราคาเป็นการวางแนวทางเพื่อจะสอดรับกับพ.ร.บ.น้ำ ฉบับใหม่ด้วย

ทั้งนี้ในส่วนของความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และความแข็งแกร่งของธุรกิจที่เป็นผู้บริหารจัดการน้ำที่มีโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบครอบคลุมพื้นที่ในเขตชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกที่สมบูรณ์เพียงรายเดียว ทำให้บริษัทจัดอันดับเครดิตองค์กรชื่อดังชั้นนำอย่าง “ทริสเรทติ้ง” จัดอันดับให้บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ (EASTW) ให้คงอันดับเครดิตอยู่ที่ A+ แนวโน้มคงที่ สะท้อนให้เห็นถึงอัตรากำไรที่ดีและมีกระแสเงินสดสม่ำเสมอ ของอีสท์ วอเตอร์ตลอดมา

ทริสเรตติ้งคาดการณ์ว่ารายได้ของอีสท์ วอเตอร์ จะเติบโตอยูที่ 5% ต่อปีในช่วงปี 2562-2564 โดยพิจารณาจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งบริษัทมีแผนการลงทุนเพิ่มเติมในอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งการสร้างท่อส่งน้ำใหม่ พัฒนาสถานีสูบน้ำและเสริมประสิทธิภาพเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำ เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำในการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรของประเทศต่อไป