ปศุสัตว์จังหวัดบึงกาฬ จับมือซีพีเอฟ อบรมเกษตรกรรายย่อยป้องกัน ASF ในสุกร

ผู้สื่อข่าว ”ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ปศุสัตว์จังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ็มเอสดี แอนิมัล เฮลธ์ (ประเทศไทย) จัดอบรม เรื่อง “เข้าใจ รู้ทัน ร่วมป้องกันโรค ASF ในสุกร” ให้กับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจังหวัดบึงกาฬกว่า 264 คน โดยมีนายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬเป็นประธานในพิธี นับเป็นจังหวัดที่ 16 ของภาคอีสาน

นายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ขณะนี้ จังหวัดบึงกาฬยังไม่มีรายงานพบโรค ASF แต่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นพื้นที่ด่านหน้าที่สำคัญในการสกัดกั้นไม่ให้โรคดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย จังหวัดบึงกาฬได้บูรณาการกับปศุสัตว์จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันวางแผนและรับมือป้องกันผลกระทบที่มีต่อผู้เลี้ยงหมู และอุตสาหกรรมปศุสัตว์ รวมถึงความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ พร้อมย้ำว่าจังหวัดบึงกฬได้มีการควบคุมการนำเข้า การผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์จากหมูที่ผู้บริโภคซื้อมีความปลอดภัย

น.สพ.ดร.สมพร พรวิเศษศิริกุล ปศุสัตว์จังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ขณะนี้ว่าประเทศไทยยังไม่พบโรค ASF ในสุกร ขอให้เกษตรกรและประชาชนมั่นใจในการดำเนินมาตรการที่เข้มงวดของปศุสัตว์จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องพี่น้องเกษตรกร พร้อมย้ำกับผู้บริโภคทุกคนว่า โรค ASF ในสุกร เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คน การอบรมให้ความรู้เกษตรกร จะช่วยให้ทุกคนทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องในการป้องกันโรค ASF ในสุกร เพื่อขจัดความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติหากสงสัยว่ามีการเกิดโรค

ที่ผ่านมาปศุสัตว์จังหวัดบึงกาฬและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันป้องกันโรค ASF อย่างเข้มแข็ง โดยมีการ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ASF พร้อมให้เกษตรกรได้ทราบถึงช่องทางการแจ้งข่าวสาร (Call Center) หรือ แอพพลิเคชั่น กรมปศุสัตว์ DLD 4.0 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว พร้อมจัดซ้อมแผนฉุกเฉินฯ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานกองสารวัตรและกักกันสัตว์ ที่อยู่ประจำตามแนวชายแดนและประจำจุดผ่านแดน เพื่อควบคุมและห้ามไม่ให้มีการนำผลิตภัณฑ์จากหมูจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในเขตจังหวัดบึงกาฬ รวมถึงเข้มงวดเรื่องการเคลื่อนย้ายหมูต้องมีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์(ร.4) พร้อมดำเนินการปราบปรามโรงฆ่าสัตว์ที่ไม่มีใบอนุญาตตามกฎหมาย

ด้านนายธีระพงษ์ สมบัติหลาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นการผลิตหมูที่มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน บริษัทฯ ได้ยกระดับมาตรการป้องกันโรค ในโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มบริษัทและฟาร์มเกษตรกรในคอนแทร็คฟาร์ม จนถึงกระบวนการขนส่งตลอดทั้งห่วงโซ่


นอกจากมาตรการป้องกันโรคภายในบริษัทฯแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันโรคไม่ให้เข้ามาในประเทศ บริษัทฯ จึงร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดเร่งดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้เกษตรกรรายย่อยที่ส่วนใหญ่เลี้ยงหมูในฟาร์มแบบเปิดครอบคลุมทุกจังหวัด ได้ปรับปรุงระบบป้องกันโรคในฟาร์ม และได้รู้ทันและเข้าใจถึงสถานการณ์โรค และดำเนินการป้องกันตามมาตรการของกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวด มีข้อมูลข่าวสารที่ช่วยให้เกษตรกรรายเล็กเลี้ยงหมูอย่างมั่นใจ และเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังและแจ้งข่าวสาร เตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนและทุกระดับ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย เพื่อให้ผู้บริโภคทั่วประเทศมั่นใจการผลิตหมูที่ปลอดภัยของไทย