“เหล็กนอก” เลี่ยง AD ถล่มไทย โรงเหล็ก 7 สมาคมร้อง “จุรินทร์” กู้วิกฤต

ดิ้นสู้ - นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะแกนน..า 7 สมาคมเหล็กน..าคณะเข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ให้เร่งแก้ไขปัญหาวิกฤตเหล็กนอกทะลัก

7 สมาคม ร้อง “จุรินทร์” ปลดล็อกกฎหมายกู้วิกฤตเหล็ก หลังสงครามการค้าถล่มเหล็กนอกทะลักเลี่ยงเอดีเข้าไทยทะลุ 17,000 ล้านบาท หวั่นหากไม่เร่งแก้เหล็กไทยสูญพันธุ์ต้องนำเข้าแทนกว่า 2.5 แสนล้านบาท/ปี กระทบแรงงาน 1 แสนคน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะแกนนำ 7 สมาคมเหล็ก ซึ่งมีสมาชิก 472 บริษัท พร้อมด้วยนายพงศ์เทพ เทพบางจาก ตัวแทนสมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี นายวรพจน์ เพียรอภิธรรม นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น นายเภาบุญเยี่ยม ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน นายชัยเฉลิม บุญญานุวัตร ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์กไฟฟ้า นายณรงค์ฤทธิ์ โชตินุชิตตระกูล นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย นายมนชัย เรืองศรีนุกูลกิจ นายกสมาคมโลหะไทย ร่วมด้วย ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหารสถาบันเหล็กไทย เข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ประเด็นสำคัญกลุ่มผู้ผลิตเหล็กได้นำเสนอปัญหาสถานการณ์เหล็กในปัจจุบัน พร้อมทั้งขอภาครัฐกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหา จากที่ปัจจุบันมีปัญหาปริมาณเหล็กเกินความต้องการ (over supply) ในเหล็กบางประเภท เข้าขั้นวิกฤตจากสาเหตุจีนมีนโยบายช่วยอุดหนุนอุตสาหกรรมเหล็ก (China subsidy) 1.78 ล้านล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของจีนต่ำกว่าความเป็นจริง สหรัฐจึงได้ประกาศใช้มาตรา 232 ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กจากจีน สงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐและอียูใช้มาตรการเซฟการ์ด (EU safeguard) สินค้าเหล็ก 28 รายการ ทำให้เหล็กที่ไม่สามารถส่งออกไปตลาดดังกล่าวได้ไหลเข้ามาในประเทศไทย ในปี 2561 มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 8% ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้นเพียง 1% ส่งผลให้ผู้ผลิตใช้อัตรากำลังการผลิตเพียง 38% หรือลดลง 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยแนวโน้มการใช้กำลังการผลิตจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลจากสงครามการค้าทำให้ประเทศที่ถูกใช้มาตรการทางการค้าจากสหรัฐ อียู ออสเตรเลีย และอินเดีย ทำให้ผู้ผลิตจากหลายประเทศ เช่น จีน เวียดนาม หาช่องทางส่งออกมายังไทยมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าปัจจุบันมีสินค้าที่หลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti Circumvention :AC) ประมาณ 17,000 ล้านบาท โดยเฉพาะเหล็กเจืออัลลอยจากจีน หากไม่เร่งแก้ไขจะส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมและความสามารถในการชำระหนี้ ในท้ายที่สุดหากไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจะต้องนำเข้าเหล็กแทนเฉลี่ย 250,000ล้านบาทต่อปี ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มมูลค่าสินค้าในประเทศ 73,000 ล้านบาทและเสี่ยงต่อการเลิกจ้างแรงงานในอุตสาหกรรม 100,000 คน

ที่ผ่านมาทาง 7 สมาคมได้เข้าพบและประสานงานแก้ปัญหาร่วมกับภาครัฐทั้งกระทรวงการคลัง อุตสาหกรรม และพาณิชย์ อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559-2561 รวม 79 ครั้ง ซึ่งไทยได้มีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการปกป้อง (SG) รวม 15 เคส แต่ไม่เคยใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ขณะที่ทั่วโลกมีการใช้มาตรการรวมถึง 820 มาตรการ

นอกจากนี้ยังพบว่ากระบวนการไต่สวนเพื่อใช้มาตรการของไทยเป็นไปอย่างล่าช้า เช่น AD ใช้เวลาไต่สวนนานถึง4-14 เดือน SG ใช้เวลาไต่สวน 4 เดือนก่อนจะพิจารณาใช้มาตรการชั้นต้น ใช้เวลารวม 10 เดือน และอัตราภาษี AD/SGของไทยต่ำกว่าประเทศอื่น เช่น ไทยเก็บเอดีท่อจีนแค่ 3.22-66.01% เทียบกับแคนาดาเก็บภาษีเหล็กชนิดเดียวกันนี้ 74-351.1% เป็นต้น

ADVERTISMENT

นายนาวากล่าวว่า 7 สมาคมขอให้รัฐแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการยกร่างอนุบัญญัติเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเพื่อให้ใช้ได้ทันกับ พ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2562 รวมถึงการปรับแก้กระบวนการไต่สวนให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อปกป้องผู้ประกอบการเหล็กในประเทศ

“อุตสาหกรรมเหล็กถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มีมูลค่าการลงทุน 2 แสนกว่าล้านบาท สมาชิก 470 บริษัท จ้างงานแรงงานแสนราย ไทยถือว่าเป็นผู้นำเข้าสุทธิรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ ปีที่ผ่านมามีการใช้เหล็ก 19.3 ล้านตันซึ่งไทยผลิตได้เพียง 7.3 ล้านตัน”

ด้านนายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้รับทราบปัญหาและพร้อมจะเร่งรัดประเด็นความล่าช้าของกฎหมายให้รวดเร็วมากขึ้น เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศให้มีเครื่องมือในการต่อสู้กับมาตรการการทุ่มตลาดจากต่างประเทศ