“ส.อ.ท.” บี้รัฐคลอดกฎบังคับห้าง-ร้านค้าเก็บค่าถุงพลาสติก2บาท ดึง50สต.เข้ากองทุนพลาสติก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เพื่อให้ไทยมีแผนการจัดการขยะที่เป็นระบบ มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนขยะพลาสติกกลับมาเป็นทรัพยากรและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมดตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และลดขยะพลาสติกในทะเลไทยได้ไม่ต่ำกว่า 50% ในปี 2567 รูปประจำเรื่อง

ทางกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก และสมาชิก 34 องค์กร จึงร่วมดำเนินโครงการความร่วมมือภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาขยะและพลาสติกอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastic ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561
โดย PPP Plastic ได้วางกรอบการดำเนินงานไว้ 6 เสาหลัก ได้แก่  1.การจัดการขยะและสร้างโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนพลาสติกโดยทำกรณีศึกษาในเขตเมืองพื้นที่ 7 แห่งในเขตคลองเตย คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2563 และภูมิภาคในพื้นที่องค์กรบริหารส่วนจังหวัดระยองที่ภายในปี 63 จะมีก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะเพื่อจัดการขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้

2.การพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรม เช่นการนำเศษพลาสติกไปผสมยางมะตอยทำถนนราดยาง ฯลฯ 3.กิจกรรมสื่อสารประชาสัมพันธ์ 4.การทำงานร่วมภาครัฐเพื่อพัฒนานโยบายและกฎหมายต่างๆ 5.การจัดทำฐานข้อมูลขยะพลาสติก และ 6.การหาเงินทุนและงบประมาณ

นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล รองประธานกลุ่มอุตฯพลาสติก ส.อ.ท.กล่าวว่า PPP Plastic อยู่ระหว่างการหารือกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการออกมาตรการบังคับทางกฏหมายที่จะกำหนดให้ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีของภาครัฐนำร่องจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก (ถุงพลาสติก) ให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการแทนการให้ฟรี เช่น ปัจจุบันโดยเบื้องต้นได้เสนอไว้ที่ระดับ 2 บาทต่อถุง แล้วนำเงินรายได้ดังกล่าวมาจัดสรร 3 แนวทาง ได้แก่

1.จำนวน 25 สตางค์ให้ห้างฯ ร้านดังกล่าวนำไปทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (CSR) 2.จำนวน 50 สตางค์ส่งเข้ากองทุนพลาสติกที่บริหารโดยสถาบันพลาสติกสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมมาดำเนินงาน และ 3.จำนวน 1.25 บาท มอบให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินำไปบริหารจัดการขยะภาพรวม

โดยเบื้องต้นกองทุนภายใต้สถาบันพลาสติกนี้จะมีเงินราว 100-200 ล้านบาทต่อปี คาดว่าแนวทางทั้งหมดจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ในปี 2563