พาณิชย์ เตรียมเสนอมาตรการแก้ไขมะพร้าวเข้าคณะอนุกรรมฯ ก่อนเสนอบอร์ดพืชน้ำมันตัดสินใจ

แฟ้มภาพ

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมหารือแก้ปัญหามะพร้าวราคาตกต่ำ ร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และเกษตรกร ว่า ที่ประชุมได้มีข้อเสนอถึงแนวทางและวิธีการบริหารจัดการมะพร้าว เพื่อแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ โดยเสนอให้มีการลดปริมาณการขนย้ายมะพร้าวจากเดิมที่กำหนดมะพร้าวผลตั้งแต่ 7,000 กิโลกรัม (กก.) ขึ้นไป เนื้อมะพร้าวขาวตั้งแต่ 2,500 กก.ขึ้นไป เนื้อมะพร้าวแห่งตั้งแต่ 1,500 กก.ขึ้นไป ต้องมีใบอนุญาตการขนย้ายจากแหล่งที่มาและปลายทาง เน้นใน 8 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี นราธิวาส ชุมพร และปัตตานี

ทั้งนี้ ยังเสนอให้มีการควบคุมพื้นที่การกะเทาะเนื้อมะพร้าว โดยเสนอให้มีการกะเทาะมะพร้าวในพื้นที่ของโรงงาน หรือพื้นที่ๆ โรงงานกำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำไปกะเทาะที่อื่น แล้วหลุดรอดออกไปสู่ตลาด และขอให้กำหนดให้ผู้นำเข้าและผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบ เช่น ผู้ผลิตกะทิ น้ำมันมะพร้าว ต้องแสดงใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน (รง.4) และใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.5)

อย่างไรก็ดี จากข้อเสนอในที่ประชุมดังกล่าว จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการมะพร้าว ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน คาดว่าจะเรียกประชุมต้นเดือนก.ย.2562 ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาต่อไป

ส่วน เกษตรกรมีข้อกังวลในเรื่องการนำเข้าว่าจะเป็นสาเหตุทำให้ราคามะพร้าวในประเทศตกต่ำ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลการนำเข้ามะพร้าวช่วง 7 เดือนของปี 2562 โดยในกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่เสียภาษี 0% พบว่าปีนี้ยังไม่มีนำเข้า แต่การนำเข้าภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) นอกโควตา ที่เสียภาษีนำเข้า 54% มีการนำเข้า 52,605 ตัน แต่จากการตรวจสอบ พบว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การนำเข้ามะพร้าวใน 2 กรอบลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ใช่สาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อราคาในประเทศ

ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือกรมศุลกากร และกอ.รมน. ให้เข้มงวดดูแลเรื่องการนำเข้า และป้องกันการลักลอบนำเข้า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคามะพร้าวในประเทศ เพราะราคามะพร้าวจากต่างประเทศต่ำกว่าไทยถึง 2บาทต่อผล   ปัจจุบัน ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานว่า ผลผลิตมะพร้าวในประเทศปี 2562 มีปริมาณ 874,000 ตัน เพิ่มขึ้น 2.51% ขณะที่ความต้องการใช้มีปริมาณ 1.04 ล้านตัน