104 บริษัทไทยจับคู่ยุ่น เคลื่อนทัพลงทุนอีอีซี

104 บริษัทไทยพร้อมจับคู่ธุรกิจ-สร้างเครือข่าย กับ 600 นักลงทุนญี่ปุ่น แบ่ง 4 กลุ่มใหญ่ ยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์-อาหาร-บริการ เปิดห้องคุยการค้า ในงานสัมมนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ตั้งเป้าดึงยุ่นลงทุนใน EEC

ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น หรือ Symposium Thailand 4.0 towards Connected Industries ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 12 กันยายนที่จะถึงนี้ จัดเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมที่ทัพนักลงทุนญี่ปุ่น จำนวน 600 คน ที่จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน พร้อมกับการรับฟังบรรยายความคืบหน้าของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) หนึ่งในเป้าหมายที่ฝ่ายไทยต้องการให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนมากที่สุด

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นที่เดินทางมาพร้อมคณะ METI และได้ตอบรับเข้าร่วมการสัมมนา Symposium ในวันที่ 12 กันยายนนี้ ส่วนหนึ่งมีแผนที่จะลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ยกตัวอย่างบริษัทฮิตาชิ จะมีโครงการใหญ่ครั้งแรกที่เกิดในประเทศไทย ด้วยการทำบิ๊กดาต้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรม S-Curve โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รองรับสังคมผู้สูงวัย รองรับหน่วยงานราชการและเอกชน, บริษัทอาซาฮี สนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูง, บริษัทมิตซูบิชิ ลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV), บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ ลงทุนในอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ, บริษัทมารูเบนี สนใจร่วมทำ PPP ในโครงการรถไฟความเร็วสูง และบริษัทฟูจิฟิล์ม สนใจลงทุนเครื่องมือแพทย์

“รัฐบาลไทยมีความชัดเจนในแผนพัฒนาในพื้นที่ EEC มีความพยายามแก้ไขการบริหารจัดการเรื่องผังเมือง และเร่งให้ พ.ร.บ. EEC ออกมาบังคับใช้ เพราะจะเป็นเครื่องการันตีให้กับนักลงทุนว่า โครงการและนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะไม่ยกเลิก หรือล้มโครงการ โดยภายในปลายเดือนกันยายนนี้จะนำ พ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้ง และเตรียมประกาศใช้ภายในเดือนตุลาคมปีนี้” นายอุตตมกล่าว

ขณะที่ นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามปกตินักลงทุนญี่ปุ่นจะเดินสายเพื่อดูพื้นที่และโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะเป้าหมายในอาเซียนอย่าง ประเทศไทย-เวียดนาม-อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยมีความพร้อมที่สุด อย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐาน การมีเป้าหมายชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรม (S-Curve) ขณะที่บางประเทศยังมีปัญหาเรื่องความไม่สงบ เสถียรภาพต่าง ๆ ยังไม่นิ่ง

ส่วนนายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกิจกรรมในงานความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ในวันที่ 12 กันยายนนี้ จะมีการสัมมนาระหว่างไทยกับ METI สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมทั้งเอกชนอีกประมาณ 300-400 ราย รวมไปถึงกลุ่ม S-Curve, กลุ่มภาคบริการ, มหาวิทยาลัย รวมไปถึง SMEs จะเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ด้วย

โดยในระหว่างสัมมนาจะมีการแบ่งกลุ่มภาคเอกชนไทย ประมาณ 400 ราย ที่สนใจจะเจรจาจับคู่ทางธุรกิจกับฝ่ายญี่ปุ่น โดยจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ (Smart Automobiles-Aviation-Maintenance-Related Industries) กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Smart Electronics-Robotics-Digital) กลุ่มยา-เกษตร-ไบโอเทคโนโลยี และอาหาร (Medical & Wellness Tourism-Medical Hub-Agriculture-Biotechnology-Food-Biofuel-Biochemical) และกลุ่มบริการ (Trading-Retail-Logistics-Industrial Park)

“ทั้ง 4 กลุ่มหลักนี้ เราจะจัดโซนให้เหมาะสม เพื่อให้นักลงทุนญี่ปุ่นสามารถเลือกชม เลือกหา ภาคเอกชนไทยที่ต้องการในการเข้าเปิดโต๊ะเจรจาซื้อขายสินค้าและอื่น ๆ หรือกิจกรรมสร้าง

เครือข่ายธุรกิจ (Business Networking) เมื่อรายใดเห็นว่า สินค้าตรงกับที่ต้องการ อยากให้มาเป็นซัพพลายเชน ก็จะจับมือเข้าสู่การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างนักลงทุนไทยและญี่ปุ่น ภายในวันนั้นเลย ซึ่งเบื้องต้นการทำ Business Networking และ Business Matching กระทรวงพาณิชย์รับเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในส่วนนี้” นายกลินท์กล่าว

สำหรับภาคเอกชนไทย จำนวน 104 บริษัท ที่จะเข้าร่วมการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและการจับคู่ธุรกิจใน 4 กลุ่มหลัก รายสำคัญ ๆ ได้แก่ กลุ่มมิตรผล (อาหาร), เครือเจริญโภคภัณฑ์ CP(อาหาร), เครือ SCG (อาหาร-บริการ), Benchachinda Holding (อิเล็กทรอนิกส์), Cho Heng Rice (อาหาร), โรงพยาบาลพญาไท (อาหาร), ซีแวลู (อาหาร), โอเชียนกลาส (อาหาร), โตโยต้า (รถยนต์), Wales & Universe (อาหาร), ไทยวิวัฒน์ประกันภัย (บริการ), 304 Industrial Park (บริการ), Apexcela (อาหาร), Baramee Management (อาหาร), Biz In Thai (บริการ), Myler (รถยนต์), Dwer (บริการ) Foodle Noodle (อาหาร), International Laboratories (อาหาร), Mazuma (Thailand) (อิเล็กทรอนิกส์), Narai Corporation (อาหาร), Robot System (อิเล็กทรอนิกส์), Thai Film Industries (อาหาร), Thai Metal Product Industry (อาหาร), T.A.M. Promotion (logistics) (บริการ), Thaipet Industrial (อาหาร) และ Thairodthip (อาหาร)