Shell Forum”19 ผนึกคลีนเทคฯ วางอนาคต “โซลาร์เซลล์”

ในงานสัมมนา “2019 Shell Forum” ซึ่งเป็นงานสัมมนาทางวิชาการประจำปีของบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ได้เน้นย้ำการขับเคลื่อนนโยบายแผนพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน จากการศึกษาแบบจำลอง “sky scenario” (sky) ที่ได้เปิดตัวไปใน “Shell Forum 2018” ภายใต้กลยุทธ์พลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม (more and cleaner energy) รับการเปลี่ยนผ่าน สู่ยุคพลังงาน 4.0 แบบจำลองนี้เสนอแนวทางที่เป็นไปได้ทั้งด้านภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี ในการบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ตั้งเป้าหมายร่วมกันในการรักษาอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส

ดร.มัลลิกา อิชวารัน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส และที่ปรึกษาด้านนโยบายของเชลล์ กล่าวว่า การใช้แบบจำลอง sky scenario ประเมินว่าอัตราการใช้พลังงานฟอสซิลจะลดลงจาก 80% เป็น 20% ในปี 2070 (2613) ส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งแสงแดด ลม ชีวมวลจะเพิ่มขึ้นเป็น 14-15% โดยสัดส่วนการใช้พลังงานในภูมิภาคเอเชียจะถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญ ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าจะมีอัตราเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม 2% ต่อทศวรรษ เป็น 6% ต่อทศวรรษ โดยสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 50% และพลังงานที่ไม่ใช่ไฟฟ้าประมาณ 40%

ดังนั้น การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน พลังงานรูปแบบใหม่ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งจะต้องมองไปถึงการพัฒนาเมืองไปสู่สมาร์ทซิตี้ เพื่อวางระบบการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการการใช้ที่ดิน การปลูกป่าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการวางระบบกักเก็บคาร์บอน และมาตรการส่งเสริมเช่น การกำหนดราคาคาร์บอน

ซึ่งปัจจุบันราคาเพียง 10 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอน แต่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 100-200 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอน ในปี 2070 เพื่อจูงให้เกิดการกักเก็บ และการปรับทัศนคติของผู้บริโภคผู้ประกอบการในการปรับโมเดลธุรกิจ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงทิศทางการเปลี่ยนผ่านว่า เชลล์มีแผนการลงทุนปีละ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐในธุรกิจพลังงานสะอาด เช่น ลม โซลาร์เซลล์ คิดว่าโซลาร์เซลล์น่าจะเห็นภาพชัดเจนก่อน ส่วนพลังงานไฮโดรเจนได้เริ่มมีการหารือกันมา 2-3 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร

นอกจากนี้ กำลังศึกษาเรื่องไบโอฟีลด์ อย่างไรก็ตาม ยังคงให้ความสำคัญกับพลังงานน้ำมันและก๊าซอยู่ เพราะมองว่าอีก 10 ปี ตลาดนี้ก็ยังมีความต้องการใช้ แม้ว่าจะมีรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงมีรถยนต์รุ่นเก่าที่ใช้น้ำมัน

สำหรับการลงทุนด้านโซลาร์เซลล์นั้นเชลล์ร่วมกับพันธมิตร คือ บริษัท คลีนเทค โซลาร์ มีสำนักงานในสิงคโปร์ เพื่อให้บริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับผู้ประกอบการ โรงงาน และอาคารพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้ในไทยมีทำสัญญา 3-4 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ บริษัท ทาทา สตีล และอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้า โรงงาน และบริษัทอีก 20-30 ราย

ขณะเดียวกัน เชลล์ทดลองติดโซลาร์รูฟท็อปที่อาคารสำนักงานใหญ่ รวมทั้งเชลล์มีหลังคาปั๊มน้ำมัน หากจะขยายธุรกิจด้านนี้ก็เป็นโอกาส เพราะยังมีพื้นที่ซื้อไว้อีกจำนวนมากที่จะสามารถดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำเป็นโซลาร์ฟาร์มในอนาคต

ส่วนพื้นที่สถานีบริการน้ำมันที่มีอยู่ 600 แห่ง ก็มีการทดสอบติดตั้งโซลาร์เซลล์เช่นกัน ทดลอง 2 แห่งในกรุงเทพฯ แต่ด้วยข้อจำกัด เช่น พื้นที่ขนาดเล็กกว่า และสัญญาการเช่าที่ดินที่ระยะสั้น 2-3 ปี ทำให้เจ้าของสถานีบริการบางแห่งหันไปพัฒนาที่ดินทำคอนโดฯแทน ดังนั้น จึงเน้นไปที่พื้นที่สำนักงานใหญ่มากกว่า และได้มีการซื้อที่ดินไว้มากพอสมควรก่อนหน้านี้

ผลสำเร็จคือสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ 75% แล้ว เฉพาะในช่วงเวลากลางวัน และหากมีระบบสายส่งอัจฉริยะ (สมาร์ทกริด) และมีการกำหนดอัตราคาร์บอนเครดิตในการซื้อขายก็จะช่วยสร้างโอกาสในการลงทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ เชลล์ยังขยายปั๊มไบโอดีเซล ทั้ง B10 และ B20 โดยหลังจากได้ทดลองจำหน่ายไปที่สาขาวังน้อยไปแล้วก็มีแผนที่จะดำเนินการต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม มองว่าการพัฒนาไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มนั้น จำเป็นต้องสร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม การไม่ใช้แรงงานเด็กและแรงงานที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามระบบการผลิตปาล์มยั่งยืน หรือ RSPO (roundtable on sustainable palm oil) เนื่องจากสหภาพยุโรปใช้ประเด็นเรื่องนี้มาประกาศห้าม (แบน) การใช้ไบโอดีเซลจากปาล์มที่ปลูกในพื้นที่ที่รุกป่าไม้ แนวทางดำเนินการของเชลล์ได้นำร่องใช้ระบบสหกรณ์ จ.สุราษฎร์ธานี มีเกษตรกรร่วม 1,000 รายคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10%


นอกจากนี้ ยังร่วมกับกรมป่าไม้และมูลนิธิชัยพัฒนา ปลูกป่าที่บางกระเจ้า นำร่อง 100 ไร่ และสร้างจิตสำนึกดึงประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าด้วย