“เบเนลักซ์-ฝรั่งเศส” หนุนเดินหน้า “FTA ไทย-EU” ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.62 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดเวทีสัมมนา “โอกาสการค้าและการลงทุนระหว่างไทย สหภาพเศรษฐกิจเบเนลักซ์ และฝรั่งเศส ในการเตรียมการสำหรับเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปในอนาคต” โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการค้าและการลงทุน เพื่อสร้างโอกาสให้กับนักลงทุนไทยก้าวสู่ความสำเร็จทางการค้ากับสหภาพยุโรป (อียู)

นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทยประจำเบลเยียมและหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำอียู ระบุว่า สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันทั้ง ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และความไม่แน่นอนของการถอนตัวออกจากอียูของอังกฤษ (เบร็กซิต) ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม อียูยังคงเป็นตลาดใหญ่ของธุรกิจของไทย เนื่องจากเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 3 ของไทย โดยในปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับอียูมีมูลค่าถึง 47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 9.4% ของการค้าไทยกับทั่วโลก ดังนั้น ความพยายามผลักดันการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-อียู (FTA) จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจไทย

“การเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-อียูฉบับนี้ หากเกิดขึ้นจริง ก็จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยหลายข้อ เช่น ช่วยลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของไทย และช่วยลดมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ”

นายมนัสวียังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ยังมีประโยชน์ในแง่ของการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ know-how ต่างๆ จากการเข้ามาลงทุนของบริษัทอียูในไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ ทำให้มีความเชี่ยวชาญในองค์ความรู้ และเพิ่มมูลค่าการเงินในบริษัทสาขา”

ด้าน ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ รองประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยระบุว่า ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจากสถานการณ์ต่างๆ ทำให้หลายฝ่ายวิตกว่า “เศรษฐกิจกำลังถดถอย” ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทย ขณะที่สถานการณ์ภายในประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุน

อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งของไทยที่ผ่านมาจะเป็นปัจจัยหนุนที่ดีที่ทำให้การเจรจา FTA กลับมามีความคืบหน้าอีกครั้ง หลังจากที่หยุดชะงักไปเกือบ 6 ปี

“หากการเจรจาความตกลง FTA ฉบับนี้เกิดขึ้น ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยในตลาดอียู และยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่อประเทศไทยอีกครั้ง”

นอกจากไทยแล้ว FTA ดังกล่าวยังเป็นต้นแบบสำหรับการขยายความร่วมมือทางการค้าในระดับที่กว้างขวางขึ้น จนถึงระดับภูมิภาคอย่างความร่วมมือระหว่างอียูกับอาเซียนเป็น “Pax Europa – Pax ASEANA” ในอนาคต ดร.ชิงชัยกล่าว

ขณะที่นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรประบุว่า ฝรั่งเศสและสหภาพเศรษฐกิจเบเนลักซ์ ซึ่งประกอบด้วย เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ถือว่าเป็นประเทศที่ภาคธุรกิจไทยเหมาะที่จะไปลงทุน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่อำนวยความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจ และยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนารองรับการลงทุนได้เป็นอย่างดี FTA ระหว่างไทยและอียูจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจไทยสามารถเข้าไปลงทุนและประสบความสำเร็จได้มากขึ้น โดยในปี 2561 มีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในอียูมากถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม นายศศิวัฒน์ระบุว่า อยากให้ความร่วมมือไม่ใช่เพียงการเปิดเขตการค้าเสรี แต่ควรก้าวไปไกลไปถึงความร่วมมือที่ยั่งยืน ทั้งในด้านการพัฒนา ศักยภาพแรงงาน และด้านสิ่งแวดล้อม ให้เป็นความร่วมมือที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว

“เก็จพิรุณ เกาะสุวรรณ” รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไทยมีการจัดทำ FTA แล้วกับหลายประเทศทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค แต่ไทยยังคงต้องการบรรลุการเจรจา FTA กับอียู ทั้งนี้ การเจรจาในปัจจุบันถือว่ามีความคืบหน้าอย่างมากและหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในเร็ว ๆ นี้

ในงานสัมมนาครั้งนี้ยังได้มีการเชิญผู้แทนของอียู สหภาพเศรษฐกิจเบเนลักซ์ และฝรั่งเศสร่วมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านความร่วมมือ การค้าและการลงทุนในแต่ละประเทศอีกด้วย

นายเปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจะมีความตึงเครียด โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองชาติใหญ่ คือสหรัฐและจีน แต่อียูเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ และมั่นใจได้ว่ามีความแข่งแกร่งมากพอที่จะรับมือแรงกดดันทางเศรษฐกิจได้ อีกทั้งสถานการณ์ในอียูเองภายหลังการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปที่ผ่านมา ก็มีการดำเนินนโยบายที่เปิดกว้างทางเศรษฐกิจ จึงถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับไทย

ขณะที่สถานการณ์ภายในของไทยเองก็มีความพร้อมที่จะเดินหน้าการเจรจา FTA ได้อีกครั้ง ทั้งนี้ไทยยังคงมีความสำคัญต่ออียูในแง่ของความมั่นคงทางเศรษฐกิจและมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน และหลังจากที่อียูบรรลุข้อตกลงกับสิงคโปร์และเวียดนามไปแล้ว การบรรลุข้อตกลง FTA กับไทย จึงมีความสำคัญมากเพื่อจะพัฒนาไปสู่การเจรจา FTA อียู-อาเซียนต่อไปในอนาคต

นายฟิลิป คริเดลก้า เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย ระบุเพิ่มเติมว่า ไทยถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่เหมาะสมต่อการลงทุนและการกระจายสินค้าไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และไทยยังมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา

ขณะที่ นายฌ็อง-ปอล เซนนิงเกอร์ เอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทยชี้ว่า เบเนลักซ์ รวมถึงอียูมีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับอาเซียน รวมทั้งยังความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินที่ทำให้มีความเปิดกว้างทางการค้าและการลงทุนจากภายนอก ซึ่งนักลงทุนสามารถบูรณาการได้กับทั้งภูมิภาค ทั้งนี้ FTA ที่จะเกิดขึ้นจะช่วยให้เกิดการสร้างงานระหว่างกัน และยังส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ภูมิภาค

ส่วนนายเคส ราเดอ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยเน้นย้ำถึง ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจอียูที่แม้ว่าจะยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของเบร็กซิต แต่ “เราเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าอังกฤษ” และทุกคนต่างมีความพร้อมที่เปิดรับต่อการค้าและการลงทุน รวมถึงการแสวงหาหุ้นส่วนทางธุรกิจ ซึ่งไทยหลังจากที่ผ่านพ้นสถานการณ์ภายในก็มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเปิดการเจรจา FTA อีกครั้ง

ด้านนายเอริก ซาแยตา อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยระบุว่า ไทยมีศักยภาพที่โดดเด่นในภูมิภาค ทั้งแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ดังนั้นนอกจากการเจรจา FTA แล้ว ยังจำเป็นต้องมองหาการเปิดโอกาสในการลงทุนด้านอื่น เช่น ด้านบริการต่างๆ อาทิ การบริการทางการเงิน การท่องเที่ยว และการโรงแรม นอกจากนี้ต้องส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและการเพิ่มทักษะแรงงานอีกด้วย

สุดท้ายนี้ นายคริเดลก้าเน้นย้ำว่า แม้ว่าอังกฤษจะเป็น “กุญแจสำคัญ” ของอียู แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของอียู ดังนั้นเบร็กซิตอาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของอียูบ้าง แต่อียูยังคงยึดมั่นในหลักความร่วมมือที่เสรีและเป็นธรรมกับประเทศต่าง ๆ จึงเชื่อมั่นได้ว่าเศรษฐกิจของอียูยังคงมีความแข็งแกร่งและยังคงเป็นตลาดที่เหมาะต่อการลงทุน