“สุริยะ” จ่อเยือนญี่ปุ่นพบ METI ปลายก.ย. หลังขอไทยเป็นฐานลงทุนนวัตกรรมยานยนต์ เส้นใยที่แรก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือน ก.ย.2562 นี้ เตรียมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อพบกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และใช้โอกาสในการหารือกับนักลงทุนญี่ปุ่น ถึงข้อเสนอ การแก้ไขอุปสรรค เพื่อที่จะนำมาหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึงสิทธิประโยชน์และกฎระเบียบบางอย่างที่สามารถผ่อนคลายให้ได้ รวมทั้งยังได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะช่วยอำนายความสะดวกให้กับธุรกิจ SMEs จากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนได้ง่ายขึ้น

ส่วนที่ทางด้านญี่ปุ่นแสดงความกังวล เรื่องของการค้าชายแดนที่มีปัญหาของระบบศุลกากร ทำให้มีต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ซึ่งหากแก้ไขในเรื่องนี้ได้ก็จะช่วยดึงดูดให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น

โดยญี่ปุ่นจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งผ่านชายแดนไปยังประเทศโดยรอบ ส่วนชายแดนที่จะเข้าไปเจรจาแก้ไขปัญหาจะเป็นชายแดนฝั่งไทย-กัมพูชา เนื่องจากมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จึงน่าจะเจรจาแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วและจะขยายไปแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนในฝั่งอื่นๆต่อไป

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเป็นห่วงในเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน และการขึ้นค่าจ้างแรงงาน ซึ่งในเรื่องนี้ควรจะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่จะเข้ามาตั้งในไทยจะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติในการผลิต ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานได้

ส่วนปัญหาการขึ้นค่าแรงรัฐบาลมีแนวทางชัดเจนให้การขึ้นค่าแรงเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีที่ประกอบด้วยผู้แทน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล กำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งมั่นใจว่าการขึ้นค่าแรงจะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ทั้งนี้ หลังจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ตั้งหน่วยงานโต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk) ขึ้นมาทำงานร่วมกับญี่ปุ่น และได้ครบรอบ 10ปี พบว่าซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมจำนวน 21 จังหวัดของญี่ปุ่น

และพบว่ามีจำนวนบริษัทเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งการลงทุนแบบ FDI แบบ Joint Venture และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมไทยเพิ่มขึ้น จากเดิมมีผู้ประกอบการญี่ปุ่นมาลงทุน 2,100 บริษัท เพิ่มขึ้นอีก 500 บริษัท รวมเป็น 2,600 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 70,000 ล้านบาท

นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศจีน และสหรัฐ และได้ขยายกลุ่ม SMEs เข้ามาลงทุนมากขึ้น และต้องการที่จะลงทุนด้านนวัตกรรม ยานยนต์ เส้นใย โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตแห่งแรก

นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานกรรมการบริหารองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) กล่าวว่า หลังจากที่เจโทรได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ตั้งหน่วยงานโต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk) ได้กระชับความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ทั้ง 2 ประเทศ ลงนาม MOU กับ 21 จังหวัดของญี่ปุ่น ส่งผลให้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ปี 2551 มีบริษัทญี่ปุ่นในไทย 3,884 บริษัท และล่าสุดในปี 2561 มีบริษัทญี่ปุ่นอยู่ในไทยถึง 5,244 บริษัท เพิ่มขึ้น 40% โดยในจำนวนนี้เป็นบริษัท SMEs พิ่มขึ้นจาก 1,024 บริษัท เป็น 1,859 บริษัท หรือเพิ่มขึ้นถึง 80%

นายอัตซึชิ โตโยนากะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (SMRJ) กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม 1.4 เท่าตัว ในจำนวนนี้เป็น SMEs ถึง 60% โดยหน่วยงานโต๊ะญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญในการเป็นสะพานเชื่อมให้กับนักธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศ


และล่าสุดบริษัทญี่ปุ่นมีแนวโน้มย้ายฐานเข้ามาผลิตในไทยเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์