บิ๊กโปรเจ็กต์ “บางบาล-บางไทร” แก้วิกฤตน้ำท่วม-ฟื้นเศรษฐกิจ

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่หลายจังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างปี 2554 จนถึงปี 2560 ก็ยังไม่มีการขึ้นโครงการขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนและนักลงทุนต่างชาติ

โดยเฉพาะในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมืองธุรกิจการท่องเที่ยวและนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งที่มีโรงงานหลายร้อยแห่งระดับแถวหน้าของประเทศตั้งอยู่ จนทำให้ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ อดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะคาดว่าอาจจะมีน้ำท่วมที่ใหญ่กว่าปี 2554 เกิดขึ้นอีกภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ หลังจากที่มีการล้มโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมสถานการณ์ของประเทศเมื่อเดือน พ.ค. 2557

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ออกมาสำทับอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งรัดการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำให้เป็นรูปธรรม อาทิ การจัดทำพื้นที่แก้มลิง การผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไปยังอ่างเก็บน้ำลำตะคอง การสร้างหรือขยายเส้นทางระบายน้ำบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ความยาว 22.35 กม. มูลค่า 1.76 หมื่นล้านบาท จาก อ.บางบาล ตัดตรงลงมาที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อแก้ปัญหาคอขวดตรงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ที่แม่น้ำเจ้าพระยารับน้ำได้เพียง 800-1,200 ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น ในขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำลงมาในช่วงน้ำหลากสูงถึง 2,800 ลบ.ม./วินาที ทำให้เกิดน้ำท่วมในเขตตัวเมืองและรวมไปถึงบริเวณใกล้เคียงที่มีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งรอบตัวเมืองเกิดความเสียหายตามมาเป็นประจำเกือบทุกปี ซึ่งพื้นที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยายังมีแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี ไหลมาบรรจบทางฝั่งตะวันออกของตัวเมืองด้วย ยิ่งทำให้เกิดปัญหาหนักขึ้นไปอีก

ชาวบางไทรขอค่าเวนคืนที่เหมาะสม

จากการสำรวจของผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงโครงการคลองบายพาสบางบาล-บางไทร บริเวณปลายทางของคลองสายนี้ที่จะไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่บริเวณ ต.สนามชัย อ.บางไทร จุดเวนคืนที่มีความกว้างของคลองประมาณ 200 เมตร ก่อนถึงวัดสนามชัยประมาณ 200 เมตรอีกเช่นกัน นายอมร ขมิ้นสน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามชัย กล่าวว่า บริเวณปลายคลองใหม่นี้จะต้องเวนคืนบ้านเรือนประชาชนประมาณ 30 หลังคาเรือน และจะมีการสร้างประตูระบายน้ำด้วย ราคาที่ดินที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาราคาตลาดจะสูงประมาณไร่ละ 3-4 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนช่วงกลางคลองใหม่ราคาจะตกประมาณไร่ละ 5-6 แสนบาท ราคายังไม่สูง เพราะเป็นพื้นที่สีเขียวห้ามขึ้นโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนประชาชนที่จะถูกเวนคืน อยากให้ภาครัฐจ่ายค่าเวนคืนที่เหมาะสม และช่วยจัดหาพื้นที่ตั้งบ้านเรือนใหม่ที่อยู่ไม่ไกลจากที่อยู่อาศัยเดิม

“เห็นทางการปรับแผนใหม่ลดพื้นที่ความกว้างของการเวนคืนสร้างคลองใหม่เหลือ 200 เมตร โดยลดขนาดถนนฝั่งตะวันตกจาก 4 เลน เหลือ 2 เลน และฝั่งตะวันออกของคลองเท่าเดิม 2 เลน ส่วนดินที่ขุดจากคลองจะนำมาถมทำถนน 2 ฝั่งคลองใหม่ ซึ่งคลองสายใหม่นี้อยากให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือกับชาวบ้านว่าควรจะมีกิจกรรมโปรโมตการท่องเที่ยวเพิ่มเติมจากเดิมอย่างไรบ้าง เพราะคลองสายใหม่นี้ใช้เวลาเดินทางไม่นานก็ถึงใจกลางกรุงเทพฯ”

เร่งทำโครงการเร็วขึ้น

ส่วนทางด้านต้นคลองบางบาล-บางไทรที่จะมีการสร้างประตูระบายน้ำขึ้นมาก่อนในปี 2561 นั้น แหล่งข่าวจากฝ่ายโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล กล่าวว่า กรมชลประทานเป็นเจ้าของโครงการโดยตรง เท่าที่ทราบต้นคลองบางบาล-บางไทรที่จะตัดใหม่อยู่ทางทิศเหนือของวัดขนอนขึ้นไป 3 กม. บ้านเรือนประชาชนไม่หนาแน่น ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการเร่งด่วนร่นการทำโครงการจากปี 2564 มาเป็นปี 2561 แทน มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการไปแล้ว ช่วงนี้อยู่ในช่วงการประชุมจัดทำรายละเอียดของโครงการ มีการหารือกับ อบต.และกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ตัดผ่าน โดยมีคณะกรรมการกำกับโครงการดูแล ซึ่งวันที่ 23 ก.ย.นี้จะมีการประชุมชี้แจงกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกรอบ

“โครงการนี้จะมีเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ปากทางต้นคลองใหม่ลงไปเล็กน้อยเพื่อบังคับน้ำให้เข้าคลองใหม่ได้มากขึ้น แต่เป็นโครงการในอนาคต นอกจากนี้จะมีพนังกั้นริมแม่น้ำเจ้าพระยาเสริมให้ครบทุกจุดตั้งแต่ปลายคลองใหม่ขึ้นไปยังต้นคลองใหม่ด้วย คาดว่าจะใช้งบฯอีกประมาณ 600 ล้านบาท”

ขณะที่ นายสุเมธ โลหิตหาญ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานชลประทานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ช่วงแรกในการประชุมทำโครงการนี้ กรมชลประทานจะสร้างคลองบางบาล-บางไทรกว้าง 300 เมตร แต่ช่วงหลังตนไม่ได้เข้าประชุมว่าจะมีการลดความกว้างลงหรือไม่ โครงการนี้มีการจ้าง 4 บริษัทที่ปรึกษาแล้ว ส่วนการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะลงมาประชุม ครม.สัญจรที่พระนครศรีอยุธยา วันที่ 19 ก.ย.นี้ จะมีเรื่องการจัดการผันน้ำเข้าทุ่งทั้ง 7 แห่ง คือ ทุ่งป่าโมก ทุ่งบางบาล ทุ่งบ้านแพน ทุ่งคลองกุ่ม ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งบางกุ้ง หลังวันที่ 15 ก.ย.ที่ให้ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งทั้ง 7 ทุ่งมีพื้นที่ 602,725 ไร่ เป็นพื้นที่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 4 แสนกว่าไร่ รับน้ำเข้าพื้นที่สูงประมาณ 1-2 เมตร รับน้ำได้ทั้งสิ้น 1,023

ล้าน ลบ.ม.จะเห็นได้ว่า การที่รัฐเร่งรัดทำโครงการนี้ และโครงการผันน้ำเจ้าพระยาไปลงแม่น้ำน้อยอีก 800 ลบ.ม./วินาที ที่อยู่ด้านบนโครงการนี้ จะช่วยด้านการท่องเที่ยวจังหวัดนี้ได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติได้เป็นอย่างมาก เพราะอนาคตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งขึ้นไปอีก จากเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-โคราช ดังนั้นการมีทางเลือกเพิ่มเติมในการแก้ปัญหาน้ำท่วมนอกเหนือจากการผันน้ำเข้าทุ่ง จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนมองหลังจากรอคอยมานาน 6-7 ปี