4 รัฐมนตรีเศรษฐกิจ แท็กทีม ขับเคลื่อนประเทศไทยฝ่ามรสุม

ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในทิศทางชะลอตัว และเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า แน่นอนว่าสำหรับเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาภาคการส่งออกสินค้าและบริการท่องเที่ยวจากต่างประเทศถึง 70% ของจีดีพี ขณะที่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องและมากกว่าประเทศคู่ค้า ทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะกดดันทั้งจากตัวเลขภาคการส่งออกที่ติดลบ ซึ่งสภาพัฒน์ก็คาดว่าปี 2562 ส่งออกไทยจะติดลบอยู่ที่ -1.2% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่ถือเป็นตัวช่วยสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็เริ่มชะลอตัว

ในภาวะเช่นนี้ รัฐบาลจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางไหน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจได้จัดดินเนอร์ทอล์ก โดยเชิญ 4 รัฐมนตรีเศรษฐกิจบรรยายในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่”

“อุตตม” รื้อมาตรการดึงการลงทุน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ส่งผลกดดันเศรษฐกิจทั่วโลกรัฐบาลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงมีการดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านมาตรการต่าง ๆ ให้เศรษฐกิจในประเทศหมุนเวียนต่อไป แม้ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากพึ่งพิงการส่งออกและท่องเที่ยว 70% ของจีดีพี

ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยลบจากภายนอกมากระทบ จำเป็นต้องนำงบฯ ไปใช้ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อดูแลประชาชน ต้องเป็นมาตรการที่แก้ไขปัญหาตรงจุด รวดเร็ว โปร่งใส และทำชั่วคราวเท่านั้น เช่น การดูแลผู้ถือบัตรสวัสดิการ การดูแลเกษตรกร และมาตรการภาคการท่องเที่ยวที่จะใช้เพียง 2-3 เดือน เป็นต้น เพื่อช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจภายในประเทศสามารถหมุนเวียนต่อไปได้

และต้องจัดเตรียมงบฯ ไว้เพื่อการลงทุน ซึ่งล่าสุดรัฐบาลเตรียมจัดสรรงบประมาณปี 2564 เป็นงบฯลงทุนพัฒนาปรับเปลี่ยนประเทศให้ทันกับสังคมโลกทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งรัฐต้องลงทุนนำร่องก่อนอย่างมียุทธศาสตร์ สุดท้าย คือ การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ แม้บริษัทขนาดใหญ่จะมีศักยภาพลงทุนแต่ต้องการเห็นการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ จากบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ด้วย

“องคาพยพของรัฐก็ต้องมีการปรับ เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะให้สิ่งจูงใจกับเอกชนแบบเดิมตามอุตสาหกรรมอาจไม่ใช่แล้ว ต้องคิดโจทย์ใหม่ว่าจะปรับอย่างไรจะดึงดูดให้เอกชนเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในอนาคต วันนี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะให้คำนิยามว่าอยู่ในอุตสาหกรรมไหน หรือบริการไหนไม่ได้ เพราะอยู่ในโซเชียลสเปซ อยู่ในโลจิสติกส์ อยู่ในหลายอย่าง การให้อินเซนทีฟก็ต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะดึงดูดอุตสาหกรรมสมัยใหม่เหล่านี้ให้มาประเทศไทย” นายอุตตมกล่าว

“สุริยะ” เปรียบไทยเหมือนรถเก่า

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยมีทิศทางที่ค่อนข้างดี สะท้อนจาก GDP ภาคอุตสาหกรรม ที่ขยับจาก 0.1% ปี 2557 ขึ้นมาที่ 3.2% ในปี 2561 แต่ช่วงต้นปี 2562 เกิดสงครามการค้าส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงไทยทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมไทยชะลอตัวลง

“ไทยเปรียบได้กับ ‘รถยนต์คันหนึ่ง’ ที่ผ่านการใช้งานมานาน เครื่องยนต์เริ่มเสื่อมสภาพ ทุกกระทรวงได้ร่วมกันเดินหน้าขับเคลื่อนรถยนต์คันนี้ให้แล่นต่อไปข้างหน้าเต็มที่ โดยกระทรวงการคลังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเติมเงินลงไปในระบบกว่า 3.1 แสนล้านบาท เปรียบเหมือนเติมน้ำมันให้รถยนต์ กระทรวงคมนาคมเร่งรัดโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระทรวงพาณิชย์ดำเนินมาตรการเชิงรุกชี้นำทิศทางการค้าและการส่งออกของประเทศ เปรียบเหมือนการวางระบบเนวิเกเตอร์ไฟส่องทิศทางให้กับรถยนต์”

สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นผู้ปรับทิศทางภาคอุตสาหกรรมทุกระดับ ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายย่อย ภาคเกษตรอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเปรียบเหมือนการปรับจูน ยกเครื่อง และหาอะไหล่ที่ดีที่สุด มาปรับเปลี่ยนเพื่อให้เครื่องยนต์ของรถคันนี้ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

จุรินทร์เร่งประกันราคาสินค้าเกษตร

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ว่า มี 2 เรื่อง คือ การยกระดับราคาสินค้าเกษตร กับการผลักดันการส่งออก ด้วยนโยบายหลัก คือ การประกันรายได้ให้กับสินค้าเกษตร 5 รายการ (ข้าว-ยางพารา-มันสำปะหลัง-ปาล์มน้ำมัน-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ดูแลสินค้าเกษตรตัวอื่น แต่กระทรวงจะใช้มาตรการอื่น ๆ ที่เหมาะสมเข้ามาดูแล ซึ่งไม่ใช่เรื่องของประกันรายได้

“ปาล์มน้ำมันจะประกันรายได้ที่ 4 บาท/กก. (เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ 18%) ครอบครัวละไม่เกิน 25 ไร่ โดยใช้วงเงิน 10,000 ล้านบาท ถ้า ครม.เห็นชอบ เงินงวดแรกจะถึงมือชาวสวนปาล์มในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ และยังมีมาตรการอื่นควบคู่ในเรื่องของการดูแลปาล์มน้ำมัน อาทิ ข้อเสนอให้ใช้ B10 แทน B7 ส่วนการประกันรายได้ข้าวก็จะเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป รวมทั้งยางพาราที่กระทรวงเกษตรฯดูแล โดยราคาประกันรายได้จะยึดยางแผ่นดิบชั้น 3 ประกันที่ 60 บาท/กก. ครอบครัวละไม่เกิน 25 ไร่” 

ศักดิ์สยามเดินหน้าลงทุน 1.9 ล้านล้าน

ด้าน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การดำเนินงานของคมนาคมยึดตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำไว้ จะต้องสัมฤทธิผลในปี 2578 เป็นโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมทั้งบก ราง น้ำ อากาศ เงินลงทุนกว่า 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี ทั้งรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน (MRO) สนามบินอู่ตะเภา

ขณะนี้มี 2 โครงการที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม คือ สนามบินกับท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้ลงนามให้ได้เดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะสามารถลงนามได้ตามที่กำหนด

ในการทำงานได้วางวิสัยทัศน์ไว้ 5 เรื่อง 1.ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ปลอดภัย ประหยัด 2.ลดภาระด้านงบประมาณรัฐ 3.ใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด 4.ยกระดับมาตรฐานชีวิตและลดภาระค่าครองชีพประชาชน 5.ทุกโครงการต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีค่าโง่

งานเร่งด่วนหลัก ๆ อาทิ การปรับปรุง ถ.พระราม 2 ถ.กัลปพฤกษ์ ติดตามความคืบหน้ามอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช กำหนดเวลาวิ่งรถบรรทุกขนาดใหญ่ให้วิ่งช่วง 00.00-04.00 น. จะนำร่อง ถ.กาญจนาภิเษก ลดปัญหาจราจรติดขัด เพิ่มความเร็วรถวิ่งเลนขวาไม่เกิน 120 กม./ชม. ศึกษาลดค่ารถไฟฟ้า โดยนำเงินในอนาคตมาชดเชย ฯลฯ

การลงทุนจะเน้นหนักไปที่รถไฟทางคู่เพื่อเพิ่มการขนส่งทางรางให้ได้ 30% ส่วนรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล จะผลักดันทุกเส้นทาง มีบางโครงการต้องปรับแผนใหม่ เช่น สายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ มีปัญหาเงินงบประมาณไม่พอลงทุน จะให้เอกชนร่วมลงทุน PPP รวมถึงพัฒนาอาคารผู้โดยสารใหม่ รันเวย์ใหม่ ยกระดับสนามบินภูมิภาคให้เป็นเชิงพาณิชย์ การก่อสร้างสนามบินใหม่ เช่น สนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่ จ.พังงา และวันที่ 30 ส.ค.นี้ จะรายงานความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินให้ ครม.เศรษฐกิจรับทราบ

“ยืนยันว่าจะผลักดันทุกโครงการ ไม่มีชะลอหรือรอใคร” นายศักดิ์สยามกล่าวย้ำ