“แฟรนไชซอร์”แนะรัฐคุมผู้ซื้อผิดสัญญา กขค.รับฟังร่างประกาศไกด์ไลน์

สันติชัย สารถวัลย์แพศย์
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า

แฟรนไชส์ฉลุย ด้าน ส.แฟรนไชส์แนะปรับนิยามให้ชัด-ห่วงทำสัญญายากกระทบต่อการพัฒนาธุรกิจ แนะเพิ่มมาตรการสกัดผู้ซื้อแฟรนไชส์ผิดเงื่อนไข 

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวปฏิบัติการค้าที่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายลำดับรองด้านการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าที่ออกตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าพ.ศ. 2560 เปิดเผยผลการรับฟังความเห็นจากเจ้าของกิจการแฟรนไชส์ (แฟรนไชซอร์) ที่เข้ามาร่วมให้ความเห็นต่อร่างประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ พ.ศ. … ตามมาตรา 57 การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า มีผู้เข้าร่วมให้ความเห็นจำนวนมาก โดยมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งห่วงว่าข้อกฎหมายบางข้ออาจกระทบต่อการพัฒนาตัวสินค้า หรือแฟรนไชส์ ซึ่งกรณีดังกล่าวคณะอนุกรรมการจะนำไปพิจารณาว่าจะสามารถปรับปรุงแก้ไขได้อย่างไรบ้าง หรือประเด็นที่ต้องการให้ตัดบางข้อ หรือต้องการให้ชี้แจงเรื่องค่าใช้จ่ายก่อน-หลัง ระหว่างการดำเนินการให้มีความชัดเจนในรายละเอียดมากกว่านี้ เป็นต้น ทางคณะจะหารือฝ่ายกฎหมายพิจารณาข้อความที่เหมาะสมต่อไป

โดยหลังจากนี้ วันที่ 6 กันยายน 2562 จะเชิญผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ (แฟรนไชซี)เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น และเปิดให้แสดงความเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายนนี้ ก่อนสรุปปรับแก้ครั้งสุดท้าย เพื่อเสนอให้กับคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าพิจารณาเห็นชอบ ก่อนที่จะประกาศใช้ต่อไป

“ที่ผ่านมามีผู้ซื้อแฟรนไชส์เกิดปัญหาจากการซื้อแฟรนไชส์ ซึ่งได้ร้องเรียนไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีเครื่องมือในการจัดการ มีแต่การส่งเสริมการดำเนินกิจการ แต่ไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดูแลเรื่องดังกล่าวจึงเป็นที่มา คณะกรรมการจึงได้พิจารณาถึงความสำคัญร่างประกาศเฉพาะเพื่อกำกับดูแลผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า (แฟรนไชซอร์) ให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย ไม่ได้มองว่าใครเป็นผู้ร้าย”

นายบุญประเสริฐ พู่พันธ์ นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ หรือ (FLA) กล่าวว่าสมาชิกมองใน 2 ด้าน คือ ต้องการให้กำหนดนิยามร่างกฎหมายนี้ให้ชัดเจนมากขึ้นเพื่อจะเป็นประโยชน์ให้กับประเทศ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการพัฒนาระบบธุรกิจแฟรนไชส์ต้องการให้นำเป็นส่วนหนึ่งในร่างประกาศ เพราะต้องยอมรับว่าธุรกิจดังกล่าวมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากสัญญาหลักที่ทำกับผู้ซื้อแฟรนไชส์ก็เป็นได้ ดังนั้นอาจต้องพิจารณาเรื่องนี้เข้าไปด้วย เนื่องจากมีเรื่องของค่าใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ซื้ออาจจะต้องปฏิบัติตาม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการร้องเรียนภายหลัง

“ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันผู้ประกอบการที่เป็นทั้งแฟรนไชซอร์และแฟรนไชซี ในประเทศมีจำนวนเยอะมาก 80-90% มีทั้งแฟรนไชส์ในและต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ซื้อจากสหรัฐ ญี่ปุ่น เป็นต้น”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ กลุ่มเจ้าของแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า กรณีที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ไม่ปฏิบัติตามแล้วมีบทลงโทษหรือไม่ หรือมีการต่อสัญญาแล้วไม่ต่อสัญญาซึ่งเป็นการปิดกั้นให้กับรายอื่น ขณะที่กฎหมายบังคับใช้พิจารณาต่อสัญญาให้กับรายเก่า และการดำเนินการต่อผู้ซื้อแฟรนไชส์กรณีที่ซื้อไปแล้วทำกิจการเพิ่มเติมหรือแอบแฝงกิจการอื่นจากการทำแฟรนไชส์จะดำเนินการดูแลหรือไม่อย่างไร

ซึ่งจากการให้ความเห็นส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มแฟรนไชส์ที่เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีข้อกังวลเกี่ยวกับผู้ซื้อแฟรนไชส์ ขณะที่ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ด้านบริการส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีกฎระเบียบและขั้นตอนที่เข้มงวด นอกจากนี้ยังห่วงว่า หากผู้ประกอบการมีพฤติกรรมอื่นที่ไม่เป็นธรรม แต่ไม่เข้าข่าย 6 พฤติกรรม ตามประกาศฉบับนี้กำหนดไว้ สามารถร้องเรียนมาทางคณะกรรมการแข่งขันฯดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่ายได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม  แฟรนไชส์2แสนล้านสะเทือน! ออกกฎคุมขาใหญ่เอาเปรียบ