ข้าวเหนียวแพงแซงหน้า “มะลิ” ไล่เช็กสต๊อก-ผุดข้าวถุงธงฟ้าประชารัฐ

พาณิชย์ลุยถกเอกชน คิกออฟ “ข้าวถุงช่วยค่าครองชีพ” ก.ย.นี้ หลังพบสต๊อกข้าวเหนียวเหลือ 1.3 แสนตัน ราคาพุ่งทะลุ 45 บาท แซงมะลิ ด้าน ส.ข้าวถุง ชี้ตลาดข้าวเหนียวโต ราคาพุ่งต้องยอมซื้อแพงขายถูกรักษาออร์เดอร์ มั่นใจข้าวถุงพาณิชย์เป็นมาตรการระยะสั้นไม่กระทบตลาด ด้าน ส.โรงสีชี้ปัญหาเรื้อรังชาวนาลดปลูก-ภัยแล้ง เชื่อปีหน้าชาวนาแห่ปลูก

หลังจากเกิดปัญหาราคาข้าวเหนียวในตลาดปรับขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติการณ์ กก.ละ 40-45 บาท สูงแซงราคาข้าวหอมมะลิ จากภาวะปลายฤดูทำให้สต๊อกข้าวที่ผู้ประกอบการซึ่งโดยปกติจะซื้อสต๊อกข้าวปีละ 1 รอบลดลง ประกอบกับภาวะภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวเหนียวฤดูกาลใหม่อาจจะลดลงจากปกติ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้ตรวจสอบสต๊อกข้าวเหนียว โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การค้าข้าว เพื่อป้องกันการกักตุนฉวยโอกาสขึ้นราคา พร้อมทั้งเร่งจัดทำ “ข้าวเหนียวบรรจุถุง” เพื่อช่วยประชาชน

ล่าสุด นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในวันที่ 28 สิงหาคม 2562 กรมจะประชุมร่วมกับผู้ประกอบการโรงสี ผู้ผลิตข้าวถุง และห้างสรรพสินค้า เพื่อกำหนดแนวทางจัดทำข้าวเหนียวบรรจุถุงจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาถูกกว่าตลาด

ซึ่งปัจจุบันจำหน่ายที่ กก.ละ 50 บาท โดยเบื้องต้นคาดว่าจะจัดทำข้าวบรรจุถุงขนาด 1 กิโลกรัม,3 กิโลกรัม และ 5 กิโลกรัม แต่จำเป็นต้องพิจารณาก่อนว่า ต้นทุนการผลิตเท่าใด ความเหมาะสม รวมถึงปริมาณข้าวสารเหนียวว่ามีเพียงพอหรือไม่

รวมถึงงบประมาณที่ต้องใช้ดำเนินโครงการ หากได้ข้อสรุปชัดเจนปริมาณข้าวเหนียวจะดำเนินการคัดเลือกผู้ที่จะมาบรรจุถุงและกำหนดราคาขายโดยคาดว่าจะสามารถจัดจำหน่ายได้ภายในต้นเดือนกันยายน2562 ผ่าน 2 ช่องทาง คือผ่านร้านธงฟ้าพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้าประชารัฐ) ห้างค้าปลีกที่มีเงื่อนไขสำหรับผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

สำหรับความคืบหน้า หลังจากกรมออกหนังสือให้ผู้ประกอบการ ประกอบด้วย ท่าข้าว โรงสี ผู้ส่งออก ผู้ค้าส่ง ไม่รวมผู้ค้าปลีกที่มีครอบครองข้าวเหนียวรายงานปริมาณสต๊อกมาที่กรมการค้าภายใน เพื่อตรวจสอบว่ามีการกักตุน หรือมีการปั่นราคาจนมีผลทำให้ราคาข้าวเหนียวสูงเกินสมควรหรือไม่

พบว่า ปริมาณสต๊อกข้าวเหนียว ณ ต้นเดือนสิงหาคม 2562 มีข้าวเปลือกเหนียว ปริมาณ 30,000 ตัน ส่วนปริมาณสต๊อกข้าวสารเหนียวมีปริมาณ 100,000 ตัน เนื่องจากไม่ใช่ฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจึงมีปริมาณน้อย โดยคาดว่าผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดเดือนกันยายน 2562 เป็นต้นไป ซึ่งโดยเฉลี่ยผลผลิตข้าวเหนียวต่อปีออกมาประมาณ 6 แสนตัน

ทั้งนี้ หากพบพฤติกรรมการกักตุน หรือปั่นราคาจำหน่ายสูงเกินสมควร จะมีโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 จำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องขอความร่วมมือในการชะลอการส่งออก เนื่องจากปริมาณข้าวมีไม่เพียงพอจึงไม่ต้องขอความร่วมมือ ก่อนหน้านี้ได้ดำเนินคดีกับผู้ลักลอบนำเข้า

ข้าวเหนียวจากกัมพูชามาทางจังหวัดจันทบุรีแล้ว ประมาณ 30 ตัน เพราะโดยปกติประเทศไทยจะไม่อนุญาตให้นำเข้าข้าวเข้ามาในประเทศไทย

นายระพีพัชญ์ ธนถาวรกิตติ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง กล่าวว่า ปริมาณข้าวสารในสต๊อกของผู้ประกอบการมีจำนวนน้อยมาก และหาซื้อยากขึ้น หากมีสต๊อกบ้างก็เป็นสต๊อกที่รอส่งมอบให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาด

แต่ขณะนี้ผู้ประกอบการต้องยอมขาดทุนซื้อข้าวแพงขายราคาถูก เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ ต้องส่งมอบให้ได้ตามออร์เดอร์ โดยเฉลี่ยขาดทุน กก.ละ 5-10 บาท จากราคาข้าวเหนียว (นาปรัง) ในตลาดปัจจุบัน กก.ละ 40 บาท ส่วนข้าวนาปีปรับราคาสูงกว่า กก.ละ 43-45 บาท ราคาข้าวถุงขนาด 5 กก. ถุงละ 180-200 บาท ตามคุณภาพข้าว

“แนวโน้มความต้องการบริโภคข้าวเหนียวเพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้ประกอบการอาหาร เช่น ร้านข้าวเหนียวหมูปิ้ง หรือผู้ประกอบการโรงงานที่ซื้อข้าวเหนียวไว้เลี้ยงคนงาน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนมากกว่าข้าวถุงที่จำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าหากกระทรวงพาณิชย์จะจัดทำข้าวถุงถือเป็นเรื่องดี คงไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการมากนัก เนื่องจากมาตรการดังกล่าวคงเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น”

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการโรงสีไม่มีการกักตุนเพื่อปั่นราคา แต่อาจมีสต๊อกเพื่อรอส่งมอบให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อข้าวเหนียวไว้ก่อนหน้านี้บ้างในปริมาณไม่มากนัก สาเหตุหลักที่ราคาสูงขึ้นมาจากเกษตรกรลดพื้นปลูกข้าวเหนียว

มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว โดยหันไปปลูกข้าวชนิดอื่นหรือพืชอื่นที่ขายได้ราคาดีกว่า เช่น อ้อย เป็นต้น จึงมีผลกระทบให้ปริมาณข้าวเหนียวลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามผลผลิตข้าวเหนียวใหม่ที่จะออกในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2562 ซึ่งยังประมาณการไม่ได้ว่าจะมีปริมาณเท่าไร เนื่องจากมีปัญหาภัยแล้งอาจทำให้ผลผลิตลดลงเช่นกัน ส่วนราคารับซื้อข้าวเปลือกความชื้น 30% ตันละ 14,000-14,500 บาท ขณะที่ราคาข้าวสารเหนียว ตันละ 39,000-40,000 บาท

“โรงสีพร้อมแจ้งข้อมูลสต๊อกให้กับหน่วยงานที่ดูแล เพราะปกติกลุ่มผู้ประกอบการโรงสีก็รายงานสต๊อกข้าวทุกเดือนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่กังวลคือ เมื่อราคาข้าวเหนียวปรับตัวสูงขึ้น จะทำให้เกษตรกรหันไปปลูกมากขึ้นจนเกินความต้องการ ซึ่งราคาจะตกต่ำลง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล ส่วนการจัดทำข้าวถุงภาครัฐคงไม่ส่งผลกระทบตลาดข้าว รัฐควรพิจารณาจากข้าวสารจากโครงการจำนำยุ้งฉางที่เหลือมาเป็นวัตถุดิบ”

สำหรับพื้นที่การเพาะปลูกข้าวเหนียวส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน เป็นต้น และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น สกลนคร นครพนม หนองคาย อุดรธานี กาฬสินธุ์ เป็นต้น