คืนอาวุธดันยอดส่งออกสหรัฐโต “จุรินทร์”ถกทูตพาณิชย์กู้วิกฤต

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์
7 เดือนสินค้าไทยเข้ามะกันพุ่ง 16% หลอกตา แฉส่งคืนอาวุธคอบร้าโกลด์ดันยอดโตเว่อร์ 6.6 หมื่นเปอร์เซ็นต์ แถมบิ๊กผู้ผลิตยางล้อจีนใช้ไทยเป็นฐานเสี่ยงโดนกีดกันการค้า ผู้ส่งออกไทยได้อานิสงส์จิ๊บจ๊อย “จุรินทร์” ตั้งวอร์รูม เรียกทูตพาณิชย์ถกกู้วิกฤต นักวิเคราะห์ชี้ถึงสิ้นปีเงินบาทจ่อแข็งค่าขึ้นอีก 1-2%

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกกับสงครามทางการค้าส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และตลาดเงินตลาดทุนต่อเนื่อง แม้ล่าสุดมีโอกาสที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ จะเปิดโต๊ะเจรจากับจีนรอบใหม่ จากสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาประกาศจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเพิ่มอีกระลอก ส่งผลให้ขณะนี้สหรัฐประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้าจีน 16,404 รายการ รวมมูลค่า 550,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นขึ้นภาษี 25% จำนวน 6,847 รายการ และขึ้นภาษี 10% กับสินค้าจากจีนอีก 9,557 รายการ ขณะที่จีนตอบโต้โดยประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ 11,006 รายการ 110,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นปรับขึ้น 25% รวม 5,799 ราย ขึ้นภาษี 10% รวม 5,207 รายการ

ยอดส่งออกไปสหรัฐพุ่ง 16%

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กรณีดังกล่าวแม้กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าจะส่งผลให้สินค้าไทยสามารถส่งออกไปทดแทนทั้ง 2 ตลาดได้มากขึ้น รวมถึงจะมีนักลงทุนหันมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น แต่จากการตรวจสอบข้อมูลการส่งออกสินค้า 7 เดือนแรกไปยังสหรัฐ มูลค่า 18,478 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น16.27% สวนทางกับการส่งออกภาพรวมของไทยที่ติดลบ 1.9% พบว่าสินค้า 10 รายการที่ไทยส่งออกไปสหรัฐเพิ่มขึ้นสูงสุด มีทั้งสินค้าที่แสดงรายการว่าส่งออกเพิ่ม แต่ไม่ได้ส่งออกจริง และบางส่วนเป็นสินค้าของผู้ผลิตต่างชาติ

สินค้า 10 รายการที่ส่งออกไปสหรัฐเพิ่มสูงสุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 1,964.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกได้เพิ่มขึ้น 21.94% กลุ่มอาวุธ กระสุน และส่วนประกอบ 1,895.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 66,529% รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 596.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.32% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 562.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.29% เหล็กและผลิตภัณฑ์ 573.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.56% เครื่องนุ่งห่ม 542.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.56% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 507.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.98%

อาวุธคอบร้าโกลด์หลอกตา

สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นอันดับ 1 คือ กองบัญชาการกองทัพไทย ส่งอาวุธสำหรับฝึกซ้อมรบในโครงการคอบร้าโกลด์คืนกลับสหรัฐ ที่เหลือเป็นการส่งออกของผู้ผลิตต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย อาทิ ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางล้อไปสหรัฐ มี บจก.ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จากญี่ปุ่น บจก.จงเช่อ รับเบอร์ (ไทยแลนด์) บจก.เซ็นจูรี่ไทร์ 2 รายนี้เป็นบริษัทยางล้อท็อป 5 ของจีน และ บจก.ดีสโตน คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตสัญชาติไทย เช่นเดียวกับผู้ส่งออกอุปกรณ์กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทสัญชาติแคนาดา สหรัฐ เกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ

ชี้บิ๊กยางล้อจีนใช้ไทยเป็นฐาน 

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมยางเปิดเผยว่า หลังสหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจีน บริษัทผู้ผลิตล้อยางรายใหญ่ท็อป 5 จากจีน ย้ายมาลงทุนในไทย นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการและกรรมการบริหาร ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี เปิดเผยว่า บริษัทได้รับคำสั่งซื้อภายในประเทศมากขึ้นช่วงครึ่งแรกปี 2562 แต่จีนไม่ได้มีแค่ผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่ 5-6 รายเท่านั้น แต่มีรายกลาง-รายเล็กเป็น 100 บริษัท ซึ่งยักษ์ใหญ่พวกนี้มีโรงงาน 10-20 โรงงานทั่วโลก และไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ดังนั้นตัวเลขอาจไม่เปลี่ยนแปลง ภาพรวมตลาดยางขยายตัว 2-3% ตามดีมานด์ตลาดโลกที่ชะลอตัวและเงินบาทที่แข็งค่า

เอกชนไทยไม่ได้ประโยชน์

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การส่งออกไปสหรัฐที่เพิ่มขึ้น 16% แต่ไส้ในผู้ประกอบการไทยไม่ค่อยได้ประโยชน์ เพราะสินค้าที่ส่งออกมากขึ้น เป็นกลุ่มล้อยางที่นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุน และนักลงทุนจากต่างประเทศ สินค้าเกษตรไทยก็ไม่ได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน และการส่งออกไปตลาดจีนก็ติดลบอีก อีกทั้งจีนดำเนินนโยบายเงินหยวนอ่อนค่า ทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าไทยและตลาดอาเซียน แข่งขันกับสินค้าไทยมากขึ้น

ลุ้นได้อานิสงส์สงครามการค้า

ขณะที่นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แม้การส่งออกจะชะลอตัว แต่ยังเห็นโอกาสในหลายจุด เช่น การส่งออกไปตลาดสหรัฐ เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ขยายตัว 16.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าไทยมีสินค้าหลายรายการที่สามารถแข่งขันได้ ต้องใช้จุดแข็งแสวงหาโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน กระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งทีมวอร์รูมติดตามสถานการณ์ และเสนอแนวทางรับมืออย่างทันท่วงที

โดยจะเฝ้าระวังการนำเข้ากลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อะลูมิเนียม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ เครื่องจักรไฟฟ้า ทองแดง และเคมีภัณฑ์ ป้องกันสินค้าไหลเข้ามาในประเทศไทย จากมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ไทยเป็นแหล่งสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า

สั่งทูต พณ.สวมบทพนักงานขาย

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า หลังจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนพาณิชย์ ร่วมกันหารือและวางแนวทางผลักดันการส่งออก ได้ตั้งคณะ war room และคณะทำงานรายสินค้าและรายตลาดเพื่อทำงานร่วมกันให้เกิดมีประสิทธิภาพสูงสุด และจะจัดประชุมสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ที่อยู่ทั่วโลก เมื่อวันที่ 28 ส.ค. เน้นให้การทำงานของทูตพาณิชย์เป็นเหมือนพนักงานขายกิตติมศักดิ์ จะต้องรู้จักสินค้าไทยของแท้ สามารถเจรจาซื้อขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็ต้องเร่งผลักดันและศึกษาโดยเฉพาะกรอบเจรจากับรายประเทศสำคัญต่อไป

ชี้ 32 บาท/ดอลลาร์หนุนส่งออก

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ประธานนักกลยุทธ์ตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ครึ่งปีหลังหากจะช่วยให้การส่งออกขยายตัวได้ดี ค่าเงินบาทควรอยู่ที่ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบัน 30.6 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ถึงสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 30.2 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นอีก 1-2% ภาพการส่งออกที่ชะลอตัวในปีนี้ สะท้อนว่า 1.ค่าเงินบาทแข็งค่ามาก ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแข็งค่า 6% 2.การลดดอกเบี้ย 0.25% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ ดังนั้นหากจะหวังให้เงินบาทอ่อนค่ากระตุ้นส่งออกปีนี้คงยาก เว้นแต่จะมีมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ ซึ่งจะกระทบตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ (บอนด์)

ใช้เป็นฐานระวังถูกกีดกันการค้า

โดยเฉพาะระยะข้างหน้าต้องระวังสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะประเด็นที่จีนย้ายมาใช้ไทยเป็นฐานการส่งออกไปสหรัฐ ทำให้ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐถึงระดับที่อาจถูกกีดกันทางการค้าเหมือนเวียดนามได้ วิธีที่ดีที่สุดคือการหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ โดยไม่ต้องพึ่งค่าเงิน ทั้งนี้ ช่วงที่เหลือปีนี้มีโอกาสที่ ธปท.จะลดดอกเบี้ยได้อีก 0.75-1% ขณะที่สหรัฐน่าจะลดดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้ง ดังนั้นการลดดอกเบี้ยของไทยก็คงตามไม่ทัน ส่วนหากจะดูแลค่าเงินบาทด้วยวิธีการแทรกแซงโดยเข้าซื้อดอลลาร์นั้น คงทำได้อย่างจำกัดแล้ว เหลือแค่วิธีการควบคุมเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดทุน

ส่วนนายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า หากค่าเงินของประเทศคู่ค้าไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันมากนัก ค่าเงินบาทระดับ 30.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ น่าจะเป็นระดับที่เหมาะสม เพราะแม้เงินบาทอ่อนค่าไปกว่านี้ แต่ถ้าไม่มีความต้องการซื้อสินค้าในตลาดโลก ก็ขายสินค้าไม่ได้อยู่ดี