7สมาคมเหล็กตีกันพ่อค้าจีน บี้รัฐใช้วัตถุดิบในประเทศ90%

แฟ้มภาพ
7 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทยหวั่นเหล็กจีนฮุบเมกะโปรเจ็กต์ทางด่วน-รถไฟ-รถไฟฟ้า เสนอรัฐบังคับใช้วัตถุดิบในประเทศ local content ทุกโครงการร้อยละ 90 จี้ปรับ TOR โครงการก่อสร้างหนุน “ศักดิ์สยาม” ดัน “Thailand First” ด้าน “สุริยะ” ถก “อุตตม” ปรับ TOR งานโยธาภาครัฐใช้เหล็กไทยเพิ่มขึ้น

นายไพศาล ธรสารสมบัติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัททีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็น 1 ในสมาชิก 7 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้เกิดปรากฏการณ์จีนยกการลงทุนก่อสร้างเข้ามาทั้งคลัสเตอร์ หลังจากที่ภาครัฐมีนโยบายดึงการลงทุนรายใหญ่เข้ามาลงทุนในไทยและเดินหน้าก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ อาทิ ทางด่วน, รถไฟฟ้า, มอเตอร์เวย์, รถไฟรางคู่, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, การขนส่งระบบท่อ, โครงการพลังงานไฟฟ้า และ โครงการต่าง ๆ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยบริษัทจีนและเครือข่ายที่ชนะการประมูลกำหนดสเป็กที่จะใช้เหล็กจีนเท่านั้น ทำให้ผู้ผลิตเหล็กไทยได้รับผลกระทบ กอปรกับก่อนหน้านี้ผลจากสงครามการค้า ทำให้ดีมานด์เหล็กในตลาดโลกชะลอตัว-ปริมาณซัพพลายเหล็กเกินความต้องการ โดยเฉพาะเหล็กจากจีนไหลมาทุ่มตลาดในอาเซียนและในไทย ทางผู้ผลิตเหล็กเหล็กไทยจึงได้ลดราคาจำหน่ายเหล็กให้ “ใกล้เคียง” กับราคาเหล็กจีน ตอนนี้ห่างกันแค่เพียง กก.ละ 1 บาทเท่านั้น

“แต่เหล็กไทยก็ยังไม่สามารถแข่งขันได้ ผมจึงขอให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ให้ใช้เหล็กไทยเพิ่มขึ้นด้วยการใช้นโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทย โดยบังคับใช้สัดส่วนวัตถุดิบภายในประเทศ หรือ local content แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้จริง เนื่องจากหลักเกณฑ์ ระเบียบการก่อสร้างใน กรอบในดำเนินงาน (TOR) รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปกำหนดได้เพราะเป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่จะกำหนดเงื่อนไขในการประมูล โดยผู้ชนะการประมูลจะกำหนดว่าโครงการนี้ต้องใช้เหล็กปริมาณเท่าไร” นายไพศาลกล่าว

ดังนั้นแนวทางออกที่ดีที่สุดก็คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม-กระทรวงคมนาคม-กระทรวงมหาดไทยจะต้องบูรณาการ ซึ่งทาง 7 สมาคมเหล็กจะขอเข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร็ว ๆ นี้ เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนให้กำหนดเงื่อนไขการใช้ local content สัดส่วน 90% ใน TOR ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ผลิตเหล็กไทยมีโอกาสได้ร่วมในซัพพลายเชนด้วย

ด้านนายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กรีดแผ่นร้อนไทย กล่าวว่า กลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ประกอบด้วยสมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี, สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะแปรรูปเหล็กแผ่น, สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน, สมาคมผู้ผลิตเหล็กยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า, สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย, สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย และสมาคมโลหะไทย เตรียมเข้าพบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้ประกาศนโยบาย Thailand First ชัดเจน โดยจะเพิ่มการใช้วัตถุดิบในประเทศ (local content) โดยการใช้มาตรการดังกล่าวจะไม่ขัดกับความตกลงการค้าโลกเรื่องการค้าและการลงทุน (Trade and Investment : TRIM) ตามข้อตกลง GATT ทำให้โครงการภาครัฐสามารถจะให้ใช้เหล็กในประเทศ 100% ได้

“นโยบาย Thailand First ถือว่าทำให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ไม่แน่ใจว่าจะปฏิบัติได้จริงมากน้อยเพียงใด เนื่องจากในความเป็นจริงไทยก็ผลิตเหล็กบางเกรดไม่ได้ เช่น รางรถไฟ ส่วนการก่อสร้างสถานี โครงสร้างต่าง ๆ ใช้เหล็กผลิตในประเทศไทยได้หมด แม้กระทั่งเหล็กตัวถังโบกี้รถไฟฟ้าตอนนี้สามารถผลิตได้ แต่ที่ผ่านมาโครงการรัฐใช้เหล็กไทยน้อยมากเพราะคนออกแบบจะอ้างแต่มาตรฐานจีนจึงต้องใช้เหล็กจากจีน”

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้เตรียมหารือกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เร็ว ๆ นี้ เพื่อหาทางกำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าที่ภาคอุตสาหกรรมไทยผลิต (local content) ไม่ต่ำกว่า 90% ในโครงการภาครัฐส่วนของงานโยธา โดยจะให้ กรมบัญชีกลาง ทำหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างในส่วนของหน่วยงานและโครงการให้ชัดเจน

และได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เตรียมจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) รองรับ ระบบรางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่จะเตรียมหารือกับทางสมาคมผู้ผลิตเหล็กในประเทศ รวมถึงจัดทำ มอก.รองรับสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐาน เนื่องจากบางส่วนสินค้าและบางรายการที่ยังต้องจำเป็นนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อผลิตเป็นสินค้าและใช้เป็นส่วนประกอบในโครงการ