BOI ปักหมุด 4 อุตฯอัจฉริยะ ดึงนักลงทุนเกาหลีรับนโยบายมุ่งลงใต้

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้บรรยายพิเศษ “ศักยภาพของประเทศไทยและโอกาสทางธุรกิจสำหรับนักลงทุนเกาหลี” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานสัมมนา “Thailand-Korea Business Forum” ในโอกาสที่ นายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี นำคณะนักธุรกิจชั้นนำกว่า 100 บริษัทมาเยือนไทย

 

ศักยภาพ 8 ด้านของไทย

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวในงานสัมมนา “Thailand-Korea Business Forum” ว่า อุตสาหกรรมที่ไทยต้องการให้เกาหลีเข้ามาลงทุนก็คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (smart electronic), ยานยนต์สมัยใหม่ (next generation automobiles),ปิโตรเคมี/เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (specialty chemical), เทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) ซึ่งเกาหลีมีความชำนาญมากที่ผ่านมา BOI ได้กำหนดบริษัทเป้าหมายและเดินทางไปพบปะกันมาบ้างแล้ว

“ปัจจุบันเกาหลีลงทุนในไทยกว่า 400 บริษัท แต่ยังน้อยกว่าศักยภาพ เราต้องการบริษัทที่ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ซึ่งเกาหลีมี ดังนั้นจึงอยากเห็นบทบาทด้านนี้ของเกาหลีในไทยบวกกับไทยมีขีดความสามารถและหวังว่า ไทยจะเป็นพื้นที่เป้าหมายการลงทุนของเกาหลี”

ขณะที่ประเทศไทยมีศักยภาพและจุดเด่น 8 ด้านที่จะส่งผลต่อการพิจารณาตัดสินใจของนักลงทุนเกาหลี ได้แก่ 1) ทำเลที่ตั้งจากการที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ CLMVT กลุ่มที่มีประชากรกว่า 242 ล้านคน GDP โต 8.2% เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและไทยยังเป็นฐานผลิตเพื่อการส่งออก

2) connectivity ที่มีความเชื่อมโยงระบบคมนาคมกับเพื่อนบ้าน มีแผนการลงทุนและกำลังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งรถไฟความเร็วสูง ระบบราง ท่าเรือ สนามบิน มูลค่ารวมถึง 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ 3-4 โครงการใกล้จะเสร็จนับตั้งแต่ปี 2563 และยังมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), นิคมอุตสาหกรรม 82 แห่งที่สร้างการเติบโตและรองรับการลงทุนในภูมิภาคนี้

3) strong supply chain คือ จุดแข็งของไทยโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไทยมีซัพพลายเชนกว่า 2,000 บริษัทเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนและอันดับที่ 12 ในโลกรวมถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่อยากเห็นบทบาทของประเทศเกาหลีในอุตสาหกรรมนี้

4) ช่องทางการเข้าถึงประเทศไทยกว่า 75% มีการใช้โซเชียลมีเดียอีคอมเมิร์ซ จึงเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงประชากรและยังมีข้อตกลง FTA ถึง 13 ฉบับ
รวมถึงที่กำลังเจรจาเพิ่มเติมด้วย

5) strong startup ecosystem ที่ไทยกำลังเกิดขึ้นจำนวนมาก พร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็น unicorn (startup ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญ) เช่นเดียวกับเกาหลีที่มี unicorn ถึง 9 บริษัท 6) quality of life คุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งที่อยู่อาศัย โรงเรียนนานาชาติ ศูนย์การแพทย์ชั้นนำ 7) quality workforce มีบุคลากรคุณภาพ ทักษะฝีมือแรงงานขั้นสูงในอุตสาหกรรม และ 8) การสนับสนุนจากภาครัฐ ที่จะทำให้นักลงทุน
สะดวกในการทำธุรกิจ (ease of doing businees) ที่ไทยถูกให้ขยับจากอันดับ 46 ขึ้นมาเป็น 26 ในปี 2561

ขายแพ็กเกจส่งเสริมลงทุน

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของไทยในปัจจุบันจะกำหนดเรื่องของอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง มีแพ็กเกจEEC แพ็กเกจสำหรับในพื้นที่รายได้ต่ำ พื้นที่ชายแดนใต้ และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัด (SEZ) ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ที่ให้การ “ยกเว้น” ภาษีรายได้นิติบุคคล 8 ปี “ยกเว้น” อากรในรูปแบบต่าง ๆ และกำหนดเงื่อนไขให้เกิดความร่วมมือ การลงทุนในด้านวิจัยพัฒนา ฝึกอบรมบุคลากร

และสามารถใช้สิทธิเพิ่มการลงทุนแก่นักลงทุนได้ หากมีการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนเกาหลี เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในระบบเหล่านี้อยู่แล้ว และยังเป็นโอกาสในช่วงของบาทแข็งที่นักลงทุนเดิมที่อยู่ในไทยจะใช้โอกาสนี้ขยายการลงทุน ขณะเดียวกัน BOI ยังมีมาตรการปีแห่งการลงทุน 2562 อีก ซึ่งเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนเกาหลีไม่ควรมองข้าม ท่ามกลางวิกฤตที่ทั่วโลกกำลังซบเซาจากเศรษฐกิจ สงครามการค้า และการมีsmart visa ให้นักลงทุนซึ่งไม่เพียงเป็นการดึงผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ผู้ลงทุน startup ครอบครัว เข้ามา แต่ยังอำนวยความสะดวกไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานอีกด้วย

 

                                นโยบายใหม่ New Sounthern Policy


เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ นายมุน แช-อิน (H.E. Mr.Moon Jae-in) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจและความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐเกาหลีจำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ 1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐเกาหลี บันทึกความเข้าใจนี้จะสนับสนุนความร่วมมือกันในสาขาการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน

2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาเกาหลีระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาเกาหลีสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของไทย

3) ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีว่าด้วยการคุ้มครองข่าวสารทางทหารที่มีชั้นความลับร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางทหารระหว่างกัน

4) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงานแห่งสาธารณรัฐเกาหลีและกระทรวงอุตสาหกรรมไทย เพื่อจัดทำความร่วมมืออุตสาหกรรม 4.0 บันทึกความเข้าใจนี้เป็นการยกระดับความร่วมมือในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การส่งเสริมการลงทุน และ SMEs ในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย

5) ความตกลงว่าด้วยการต่ออายุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ความตกลงนี้เป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการขนส่งทางรางของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง ความตกลงฯ มีอายุ 2 ปี และต่ออายุได้อีก 2 ปี

และ 6) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในสาขาการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งของสาธารณรัฐเกาหลีจะช่วยสนับสนุนเทคโนโลยี ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะของทั้งสองประเทศ

โดยความตกลงและบันทึกความเข้าใจทั้ง 6 ฉบับจะช่วยมุ่งเสริมนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy-NSP) ของเกาหลีเพื่อขยายความร่วมมือด้านต่าง ๆ มาสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศไทยหวังที่จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากนโยบายนี้รวมทั้งการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการค้าการลงทุนเกาหลี (KOTRA) ด้วย