เอกชนหวั่นสูญงบหมื่นล้านปัดฝุ่น”ปตท.”ผลิตปุ๋ยสั่งตัด

รอบวันรัฐบาลปัดฝุ่นอีกรอบ สั่ง ปตท.หาพาร์ตเนอร์ดึงนักลงทุนนอกลงขัน ปั๊มรายได้เกษตรกรฐานราก วงการธุรกิจปุ๋ยฮึ่ม สร้างโรงงานปุ๋ยสั่งตัดไม่ง่าย หวั่นสูญงบฯกว่าหมื่นล้าน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายเศรษฐกิจ) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ ปตท.เร่งดำเนินโครงการปุ๋ยสั่งตัดเพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรกร โดยเชิญนักลงทุนหรือผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาร่วมทุนหรือร่วมดำเนินการ ซึ่งกรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการแย่งตลาดปุ๋ยจากเอกชนเพราะเน้นเพียงปุ๋ยสูตรที่จำเป็น เพื่อลดต้นทุนเกษตรกรเท่านั้น ขณะเดียวกันให้จับมือกับสหกรณ์เพื่อเป็นเครือข่ายในการกระจายปุ๋ยและสินค้าด้านเกษตรต่าง ๆ ผ่านสถานีบริการน้ำมัน หรือ PTT Station

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปุ๋ยสั่งตัดจะต้องทำร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นโมเดลเชื่อมกลไกผ่านไทยเด็ดจำหน่ายตามสถานีบริการ

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า ปตท.อยู่ระหว่างทำปุ๋ยสั่งตัด โดยใช้ผลพลอยได้จากปิโตรเคมีในกลุ่ม ปตท.มาผลิต และจะใช้เอนไซม์หรือส่วนผสมให้เกิดประสิทธิภาพ และให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยขณะนี้กำลังทดลองหลายพื้นที่ต้องใช้เวลาพอสมควร

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีคณะทำงานกรมพัฒนาที่ดินทำงานร่วมกันในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลดินแต่ละพื้นที่ เพื่อกำหนดสูตรปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับสภาพดินให้สหกรณ์นำไปผลิต

“กรมจะจัดเวทีให้ความรู้แก่เกษตรกร และกรมวิชาการเกษตรจะคอยให้คำแนะนำตามหลักวิชาการการผสมปุ๋ยให้มีคุณภาพมาตรฐาน และตรวจสอบปุ๋ยที่สหกรณ์ผลิตขึ้นก่อนจะออกใบอนุญาตผลิตและจำหน่ายปุ๋ยให้กับสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการโดยใช้เงินทุนผลิตปุ๋ยนั้น ขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้จัดสรรวงเงินสินเชื่อ 1,300 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนสหกรณ์กู้ยืมดอกเบี้ย 2%โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 2% และ ธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ย 1% ต่อปี”

ล่าสุดผลดำเนินงานมีสหกรณ์ 47 แห่งเจรจาซื้อขายแม่ปุ๋ยในราคาพิเศษกับผู้แทนบริษัท ผู้นำเข้าและจำหน่ายแม่ปุ๋ยในประเทศจำนวน 7 บริษัท โดยมีผลการจัดซื้อแม่ปุ๋ยของสหกรณ์ปริมาณ 188 ตัน มูลค่า 2.26 ล้านบาท โดยบริษัทได้ให้ความร่วมมือขยายระยะเวลาจำหน่ายแม่ปุ๋ยในราคาพิเศษถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการแม่ปุ๋ยในฤดูการผลิตของสมาชิก มีสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนขอรับการสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. 23 แห่ง วงเงินสินเชื่อ127.788 ล้านบาท

ขณะที่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดทำโครงการส่งเสริมปุ๋ยผสมใช้เองผ่านสหกรณ์การเกษตร เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร เพื่อผลักดันให้สมาชิกของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการได้รู้จักประโยชน์การใช้ปุ๋ยผสมใช้เองแก่สมาชิก

แหล่งข่าวผู้ค้าธุรกิจปุ๋ยรายใหญ่ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การผลิตปุ๋ยสั่งตัดต้องสร้างโกดัง ต้องใช้พื้นที่เพื่อการผสมสูตรปุ๋ยมากพอสมควร ซึ่งที่ผ่านมายังทำเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น ถ้าหากรัฐบาลมีแนวคิดว่าให้ ปตท.ลงทุนให้กลุ่มสหกรณ์กับเกษตรกรเพื่อสร้างเป็นโรงงาน นั้นต้องคำนึงถึงการสำรวจดิน พื้นที่ และความเหมาะสมของดินแต่ละภูมิภาคแตกต่างกันอย่างไร


“การทำโรงงานปุ๋ยสั่งตัดคือนำเอาเคมีผสมปุ๋ยอินทรีย์ต้องใช้หลักการองค์ความรู้เรื่องดินสูงมาก คนในวงการก็งงว่าหลักการตรวจดินเป็นอย่างไรแน่ ถ้ารัฐบาลจะส่งเสริมเราไม่ว่า แต่ถ้าจะไปลงทุนปุ๋ยให้ ปตท.ทันทีเลยยังไม่ถูกจุด และจะใช้เงินลงทุนหลักหมื่นล้าน ซึ่งต้นทุนสูงมาก แต่เกษตรกรไม่มีความรู้ปุ๋ยจะคุ้มกันหรือไม่”