สัมภาษณ์พิเศษ
แหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย 2 แหล่งสำคัญ คือ บงกช และเอราวัณ จะหมดอายุสัญญาสัมปทานในอีก 4 ปีข้างหน้า และคาดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะประกาศเงื่อนไขการประมูล (TOR) และเปิดให้เอกชนยื่นประมูลต่อไป “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ถึงความพร้อมและเป้าหมายของการเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้
Q : พร้อมประมูลบงกช-เอราวัณ
เตรียมพร้อมไว้มากพอสมควร โดยเฉพาะในส่วนของวิชาการ ในข้อมูลปริมาณแต่ละแหล่งที่ควรจะมีค่าใช้จ่ายการลงทุน วิธีลดค่าใช้จ่ายลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูง นอกจากนี้ต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่รัฐต้องการ ที่สำคัญคือความเป็นไปได้ของเงื่อนไขการประมูลที่จะประกาศโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาตินั้นเป็นอย่างไร เพื่อให้ ปตท.สผ.ได้ยื่น proposal ที่เป็นประโยชน์สูงสุด แต่ในตอนนี้ทำได้แค่รอความชัดเจนจากรัฐ มีส่วนที่อยากนำเสนอคือ การเลื่อนประมูลทั้ง 2 แหล่งออกไปเท่าไหร่ จะยิ่งกระทบต่อผู้ที่สนใจยื่นประมูลมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งถ้าผู้ชนะประมูลเป็นรายใหม่ การทำงานจะ “ยาก” ขึ้น ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น ไม่เป็นผลดีทั้งนักลงทุนและต่อประเทศ ภาษีที่รัฐจะได้ก็น้อยลง และทำให้การพัฒนาปิโตรเลียมไม่มีประสิทธิภาพ
Q : ได้รายเดิมการผลิตต่อเนื่อง
รายเก่าหรือรายใหม่ที่เป็นผู้ชนะประมูลก็ต้องเริ่มใหม่เหมือนกัน และต้องใช้เวลาสำรวจ ประเมินศักยภาพ และต้องสร้างแท่นผลิต (platform) ซึ่งในส่วนของ ปตท.สผ.เอง ได้วางแผนพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมไปได้ต่อเนื่อง 3-4 ปีข้างหน้า เพื่อให้อย่างน้อยสิ่งที่ลงทุนไว้เริ่มคืนทุน ซึ่งหาก ปตท.สผ.ชนะประมูลครั้งนี้ก็จะรีบดำเนินเจาะหลุมผลิตทุกเดือน ฉะนั้นอย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า หากประมูลยังคงเลื่อนออกไปอีก และหากมีการเร่งรัดให้ผู้ชนะประมูลเร่งรัดดำเนินการมันก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
Q : ถ้าเลือกได้ระหว่างสัมปทาน-PSC
ชอบระบบสัมปทาน เพราะทั้งรัฐและเอกชนคุ้นเคยกับระบบนี้ จะรู้ว่ารูปแบบใดที่ทำให้มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันถ้าใช้ระบบใหม่ กรมเชื้อเพลิงฯจะต้องไปสร้างกลไกต่าง ๆ ต้องมีหลักเกณฑ์ของการยื่นเพื่ออนุมัติ ทุกอย่างต้องเรียนรู้ใหม่ และต้องใช้เวลา แต่หากทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน ก็จะมี “ความเสี่ยง” เกิดขึ้น ถามว่าในที่สุดแล้วมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มระบบหรือไม่
Q : สัมปทาน-PSC ต่างกันมาก
แนวคิดของระบบสัมปทานคือ ผู้รับสัมปทานดำเนินการ แต่รัฐดูภาพใหญ่ของแผน ที่ไม่ได้ทำให้แหล่งปิโตรเลียมเสียหาย ไม่ใช่มาเพื่อสูบอย่างเดียว เช่น ระบุว่าสูบขึ้นมาได้ 5 หน่วย แต่จริง ๆ แล้วอาจขึ้นมาประมาณ 10 หน่วย ดังนั้นกรมเชื้อเพลิงฯต้องพิจารณาแผนที่ยื่นเข้ามา ในระบบสัมปทานจะใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้าง และโดยหลักการคือ ต้องผลิตให้มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ
สำหรับระบบแบ่งปันผลผลิตหลักคิดคือ “ควบคุมทุกอย่างละเอียด” เสมือนว่ารัฐเป็นเจ้าของ ในแต่ละปีจะต้องยื่นแผนการผลิต เช่นจำนวนเจาะหลุม ซึ่งรัฐก็อาจจะเห็นแย้งได้ แม้ว่าแนวคิดนี้ทำให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุดก็ตาม แต่ในฐานะที่ไทยนำเข้าพลังงาน ถามว่าประโยชน์สูงสุดในขณะนี้ คือ “รีบพัฒนาให้เร็วที่สุด” การควบคุมที่มากเกินไปก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพ
Q : ยื่นประมูลทั้ง 2 แหล่ง
ปตท.สผ.ลงทุนทั้งในแหล่งบงกชและเอราวัณ โดยเฉพาะในส่วนของแหล่งบงกชที่เป็นผู้ operate ส่วนในแหล่งเอราวัณมีสัดส่วนถือหุ้นน้อยมาก ทั้งนี้ภาครัฐก็ควรเปิดโอกาสให้ ปตท.สผ.ในฐานะเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติให้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นน่าจะเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้ง 2 แหล่งก็ได้เริ่มเจรจากับผู้ร่วมลงทุนเพื่อให้ได้เงื่อนไขที่เหมาะสมและยอมรับกันได้
Q : วิธียื่นประมูลระบบ PSC
ต้องดูว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญกับอะไร อาจจะเป็นที่โบนัสการลงนาม (signature bonus) หรือให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ หรือเรื่องอื่น ๆ อย่างเช่น ระดับการลงทุน ก็อาจจะให้คะแนนในส่วนนี้เยอะ บางกรณีที่รู้ว่าแหล่งปิโตรเลียมมีศักยภาพสูงอย่างในตะวันออกกลางที่ไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย ก็อาจจะให้คะแนนเรื่องของโบนัสการลงนาม ส่วนประเด็นอื่น ๆ ก็เป็นส่วนปลีกย่อย บางประเทศก็อาจจะให้ความสำคัญของแผนการผลิต มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือไม่สิ่งเหล่านี้มันจะช่วยให้แผนดำเนินการมีน้ำหนัก ดังนั้นต้องดูว่ารัฐจะให้ความสำคัญกับอะไร
Q : เทียบผลิตทั้งโลกกับอ่าวไทย
ถ้าดูจากแหล่งปิโตรเลียมในเมียนมาเป็นตัวเทียบ อ่าวไทยที่มีคือแหล่งบงกช อาทิตย์ ไพลิน เบ็ดเสร็จประมาณ 80% ของยอดขาย ส่วนแหล่งบงกชอยู่ที่ 25%
Q : สัดส่วนสูง ต้องชนะประมูล
ปตท.สผ.มองไปที่กรณีเดียวคือ การประมูลครั้งนี้ “ต้องชนะ” เท่านั้นในขณะเดียวกันก็ต้องบริหารความสี่ยงด้วยการพัฒนาไปสู่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ก่อนหน้านี้ก็เข้าไปร่วมในธุรกิจนี้กับประเทศมาเลเซีย โดย ปตท.เข้าไปร่วมลงทุน เพื่อทำความรู้จักกับตลาด LNG ถือว่าเปิดโอกาสในธุรกิจต้นน้ำ โดย ปตท.สผ.ได้เริ่มเข้าไปประมูลในแหล่งที่เรียกว่า “ซาลาวัค” ซึ่งพื้นที่นี้จะเป็นตัวเข้ามารองรับ LNG Plant ที่ได้ลงทุนไปแล้ว 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อที่จะเข้ามาในธุรกิจนี้อย่างเต็มตัว
คดีฟ้องแหล่งมอนทารา
แหล่งมอนทารา ในประเทศออสเตรเลีย ที่พบว่ามีการรั่วไหลของน้ำมันจากแหล่งดังกล่าวและอยู่ในระหว่างถูกฟ้องร้องคือ 1) ซิดนีย์ประเทศออสเตรเลียชาวบ้านรวมตัวกันร้องว่า ฟาร์มเลี้ยงสาหร่ายได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมัน ทั้งนี้ได้มีการเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบไปแล้ว 1 ครั้ง แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ฝั่งผู้ฟ้องมีการส่ง ข้อมูล เพิ่มเติมต่อ ศาลทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาออกไป เพื่อพิจารณารายละเอียดว่ามีน้ำหนักหรือไม่ แต่ ปตท.สผ.เชื่อมั่นในระบบที่มี โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้นายสมพร ระบุว่า เราถูกศาลลงโทษที่ทำให้เกิด “อุบัติเหตุ”จึงมีการปรับ พูดง่าย ๆ ก็เหมือนเราฝ่าไฟแดง เมื่อเราทำผิดกฎเขาก็ปรับ 510,000 เหรียญออสเตรเลียแต่ไม่มีการลงโทษในส่วนที่เรียกว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และ 2) การฟ้องร้องจากรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมได้ยื่นฟ้อง ปตท.สผ.ในประเด็นว่าที่ว่าน้ำมันรั่วไหลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณาของศาล การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นการฟ้องแพ่ง ก่อนหน้า รัฐบาลอินโดนีเซียก็มีการพยายามให้ลงนามข้อตกลงเบื้องต้น(MOU) แต่เนื่องจากถ้อยคำในข้อตกลงดังกล่าว หากลงนามก็จะเท่ากับว่า ปตท.สผ.ยอมรับผิด ซึ่งยอมรับไม่ได้ และผลกระทบที่ว่าก็ไม่มีการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่าส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมจริง ถ้ามีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน ปตท.สผ.ก็ยินดีที่จะรับผิดชอบ