BOI ดิ้นแก้เกมสู้เวียดนาม ปั้นแพ็กเกจพิเศษดูดนักลงทุน ปลดล็อกEIA-รื้อใบ’รง.4′

BOI ผนึกกระทรวงอุตฯ ดิ้นปรับแพ็กเกจพิเศษดึงนักลงทุนย้ายฐานการผลิตจากสงครามการค้า พร้อมเข็นมาตรการลดขั้นตอนขออนุญาตทั้งใบ รง.4-รายงาน EIA เตรียมเสนอ “สมคิด” หวังสู้มาตรการส่งเสริมการลงทุนของเวียดนามที่ “เหนือกว่า” ไทย ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้ เปิดเจรจาต่อรองรายต่อราย ไปจนถึงมีข้อตกลง FTA-EU ถือเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย

กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา เมื่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กลับไปทำแพ็กเกจดึงดูดนักลงทุน หรือ Relocation ใหม่เพื่อใช้สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เตรียมย้ายฐานการผลิตอันเนื่องมาจากสงครามการค้าออกจากประเทศจีน ซึ่งมีถึง 36 บริษัทที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกระหว่างประเทศไทย กับกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเวียดนาม จนเป็นที่มาให้ BOI ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ “เหนือ” กว่าหรือ “จูงใจ” นักลงทุนมากกว่าที่เวียดนามให้ได้

ลดขั้นตอนกฎหมายสู้เวียดนาม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเดินทางไปประเทศเวียดนามเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ว่า จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานไทยในเวียดนามถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของมาตรการส่งเสริมการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศ พบอุตสาหกรรมที่เวียดนามตั้งเป้าที่จะดึงดูดการลงทุนเป็นอุตสาหกรรมประเภทเดียวกับที่ประเทศไทยต้องการ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรยุคใหม่, อุตสาหกรรมชีวภาพ, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI)ประกอบกับประเทศเวียดนามกำลังพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต ทำให้เกิดโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขึ้นมากมาย มีนักลงทุนเข้าไปลงทุนในโครงการเหล่านี้มากเป็นพิเศษทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องได้รับประโยชน์ตามไปด้วย

“ผมดูแล้วสิทธิประโยชน์ของไทยที่จะต้องเพิ่มขึ้นก็คือ การลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตให้เร็วขึ้น เช่นใบขออนุญาตตั้งโรงงาน หรือใบ รง.4 รวมถึงการขออนุญาตอื่น ๆ และได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)เข้ามาสรุปเรื่องทั้งหมดที่เป็นแนวทางในการทำแผนดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศไทย เสนอต่อนายสมคิดภายใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลต่อไป” นายสุริยะกล่าว

ส่วนการออกแพ็กเกจ Relocationของ BOI นั้น นายสุริยะกล่าวว่า จะต้องเป็นมาตรการระยะสั้นที่เร่งรัดให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนในประเทศทันที แพ็กเกจควรจะมีอายุเพียง 1 ปี ทั้งนี้ประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครบวงจร สามารถอำนวยความสะดวกรองรับการค้าการลงทุน แรงงานไทยมีทักษะฝีมือสูง มีความชัดเจนเรื่องกฎหมายต่าง ๆ มากกว่า และต่างชาติมีสิทธิถือครองที่ดินและมาตรการภาษีที่ใช้ได้จริง

ปรับแพ็กเกจดึงนักลงทุนใหม่

ด้านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แม้จะถูกสั่งให้กลับไปทำแพ็กเกจดึงดูดนักลงทุนใหม่ แต่ก็ยังคงยืนยันในหลักการ “ไม่เพิ่มสิทธิประโยชน์” ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญของ BOI ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับปัจจุบัน โดยนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ BOI กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แพ็กเกจRelocation ไม่จำเป็นต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก เพราะปัจจุบันได้รับการยกเว้นภาษีถึง 8 ปี บวกกับการลดหย่อนภาษี 50% อีก 5 ปีรวมเป็น 13 ปี ซึ่งถือว่า “สูงมากแล้ว” และที่สำคัญการยกเว้นภาษีเงินได้ถูกระบุไว้ในกฎหมาย (พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน) ดังนั้น BOI จะไปใช้ลูกเล่นตัวอื่นเข้ามา

“แพ็กเกจใหม่ตอนนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เรายังไม่ได้เสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งแพ็กเกจใหม่ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มนักลงทุนที่กำลังจะย้ายฐานการผลิตมาไทย และที่จะย้ายไปเวียดนามเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างให้นักลงทุนรายเดิมที่กำลังจะขยายการผลิตสามารถเข้ามาใช้แพ็กเกจนี้ได้ ที่ขณะนี้ BOI มี list รายชื่ออยู่แล้ว” น.ส.ดวงใจกล่าว

สอดคล้องกับนายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการ BOI ซึ่งร่วมคณะไปกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการเดินทางไปเวียดนาม กล่าวถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์เป็นปัจจัยในการตัดสินใจลงทุนแค่ส่วนเดียว ซึ่งปัจจุบัน BOI ให้การ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 8 ปี ลดหย่อนภาษี 50% อีก 5 ปีอยู่แล้ว แต่ไทยจะต้องไปกำหนดเงื่อนไขการลงทุนใหม่ เช่น โครงการที่เสนอมาต้องตรงกับอุตสาหกรรมที่ประเทศต้องการและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็จะผ่อนคลายเรื่องระยะเวลาการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ให้ เป็นต้น

BOI ติดกับดักส่งเสริมลงทุน

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ติดตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเปรียบเทียบระหว่างของประเทศไทยกับประเทศเวียดนาม พบข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจของนักลงทุนที่กำลังย้ายฐานการผลิตหรือนักลงทุนใหม่มาก โดยเฉพาะมาตรการสำคัญที่สุดอย่างการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล เวียดนามให้ยกเว้น 4 ปี บวกลดหย่อนภาษี 50% อีก 9 ปี ขณะที่ไทยให้การยกเว้น 8 ปี บวกลดหย่อน 50% อีก 5 ปี โดยเวียดนามให้การ “ยกเว้น” แตกต่างกันตามประเภทธุรกิจ แต่การลดหย่อนภาษี 50% อีก 5 ปีของไทยนั้นจะให้ได้เฉพาะอุตสาหกรรม S-curve หรืออุตสาหกรรมในกลุ่ม A1 A2 ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC เท่านั้น

นอกจากนี้ กม.ส่งเสริมการลงทุนของเวียดนามยัง “เปิดกว้าง” กว่า กม.ส่งเสริมการลงทุนของไทย อาทิ เวียดนามสามารถเปิดการเจรจาในการให้สิทธิประโยชน์ในลักษณะ “ต่อรอง” เป็นรายต่อรายได้ ในขณะที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนของไทย “ทำไม่ได้” ยกเว้นการใช้ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พ.ศ. 2560 ที่ให้สิทธิประโยชน์ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 15 ปี แต่ที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่า BOI มีการใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้แต่อย่างใด

ที่สำคัญกฎหมายของเวียดนามเปิดกว้างมาก อย่างอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าสูง อะไรก็ได้ที่เวียดนามสามารถให้สิทธิประโยชน์สูงสุดเป็นรายต่อราย แต่ของไทยระบุประเภทกิจการไว้อย่างชัดเจนและเต็มไปด้วยเงื่อนไขจนดิ้นไม่ได้ ที่สำคัญเวียดนามยังให้อำนาจในการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนกับผู้ว่าราชการจังหวัดในส่วนภูมิภาค มีการให้เช่าที่ดินฟรีในท้องถิ่นห่างไกลที่ต้องการพัฒนาความเจริญ ในขณะที่ไทยไม่มีการให้อำนาจท้องถิ่นในการอนุมัติโครงการ แต่มีมาตรการคล้าย ๆ กันนี้ในเขต 3 จว.ชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็ไม่มีบริษัทขนาดใหญ่รายไหนกล้าเข้าไปลงทุนอีก

ไทยไร้ข้อตกลง EU-FTA

อย่างไรก็ตาม นอกจากสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของเวียดนามที่ค่อนข้าง “เหนือกว่า” ไทยแล้ว เวียดนามยังมีข้อได้เปรียบสำคัญมากสำหรับนักลงทุนที่กำลังตัดสินใจที่จะเลือกลงทุนระหว่างไทยกับเวียดนาม ก็คือ ความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอียู-เวียดนาม (EVFTA) ที่มีผลบังคับใช้แล้ว กับความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) การลงทุนตั้งฐานการผลิตในเวียดนามส่งออกไปยังสหภาพยุโรป และสมาชิก CPTPP จะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าเป็นรายกลุ่มสินค้า ซึ่งประเทศไทยยังไม่สามารถจัดทำข้อตกลง FTA กับสหภาพยุโรป และยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก CPTPP แต่อย่างใด

ด้านอัตราจ่ายค่าแรง+สวัสดิการของเวียดนามก็ยัง “ต่ำกว่า” ไทยมาก โดยเวียดนามอยู่ระหว่าง 4,679-6,747 บาท/คนเดือน ส่วนของประเทศไทยอยู่ระหว่าง 6,630-8,605 บาท/คน/เดือน ซึ่งแน่นอนว่า ค่าแรงในอัตรานี้ย่อมจูงใจนักลงทุนที่ต้องการแรงงานราคาถูกที่สามารถพัฒนาฝีมือแรงงานได้มากกว่าที่จะมาลงทุนตั้งโรงงานประเภทนี้ในประเทศไทย

ส่วนมาตรการปีแห่งการลงทุนที่ให้ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลประเภทกิจการในกลุ่ม A1-A2 8 ปี กลุ่ม A35 ปี+ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% อีก 3 ปี ที่เชื่อกันว่าจะสามารถดึงดูดนักลงทุนใหม่และนักลงทุนที่กำลังย้ายฐานการผลิตนั้นก็มีเงื่อนไขกำหนดประเภทอุตสาหกรรมอีก และที่สำคัญมาตรการนี้กำลังจะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้ โดยไม่รู้ว่าจะมีการต่ออายุอีกหรือไม่

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!