“บิ๊กตู่” เปิดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสร้างความเข้มแข็งภูมิภาคท่ามกลางค้าโลกป่วน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเปิดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ว่า ต้องการเห็นภูมิภาคนี้มีความมั่นคงทางการเมือง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางสังคม เพราะหากอาเซียนไม่ลงมือจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาแนวคิดเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า ให้เป็นรูปธรรม โดยใช้กลไกการลดอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกัน (Common Effective Preferential Tariff Scheme) ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจยังคงทำการค้าด้วยกำแพงภาษีที่สูง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางการค้าภายในภูมิภาค และไม่ดึงดูดผู้ลงทุนจากต่างชาติให้มาใช้ประโยชน์จากภาษีที่ลดลง

หรือหากไม่ริเริ่มแนวคิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจยังคงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตลาดและฐานการผลิตเดียวที่มีฐานลูกค้ากว่า 630 ล้านคน และจากความเชื่อมโยงและการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ลดต้นทุนในการทำธุรกรรมและการขนส่งระหว่างกัน และที่สำคัญการริเริ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป ที่มีขนาดตลาดที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน

ขนาดเศรษฐกิจที่มีมูลค่าจีดีพี กว่า 27.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32.3% ของจีดีพี โลก ซึ่งมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดให้เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ดี ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี แม้กระทั่งสังคม และสิ่งแวดล้อม การร่วมมือทางอาเซียนและสร้างความเข้มแข็งให้ภูมิภาคจะทำให้เป็นที่สนใจและดึงดูดทางการค้าได้

สุดท้ายนี้ ไทยพร้อมเต็มที่ในฐานะเจ้าบ้านที่จะต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่านให้มีความสุข สบาย ในระหว่างพำนักอยู่ในประเทศไทยเสมือนเป็นบ้านหลังที่สอง (Second Home) ของท่าน และไทยพร้อมที่จะร่วมกับเพื่อนสมาชิกอาเซียนทำงานอย่างแข็งขันเพื่อสร้างเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของการค้าการลงทุนของอาเซียนยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นการรับมือต่อความท้าทายใหม่ๆ เช่น การเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในการประกอบธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงมุ่งเน้นการดำเนินงานต่อเนื่องในสิ่งที่ได้ดำเนินการมาแล้ว เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน และการลดผลกระทบจากมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี

โดยปีนี้ที่ไทยรับตำแหน่งประธานอาเซียน นับว่าการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจฉบับปัจจุบันได้ดำเนินมาเกือบครึ่งทางแล้ว ประเด็นเศรษฐกิจที่ไทยผลักดันจึงมุ่งเน้นภายใต้แผนงานที่เห็นว่าจะต้องดำเนินงานต่อเนื่องหรือเร่งรัดให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว รวมทั้งเรื่องใหม่ๆที่อาเซียนยังไม่เคยมีการดำเนินงานมาก่อน ในด้านการเตรียมการสู่อนาคต การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรมและแผนการดำเนินงานตามกรอบการบูรณาการด้านดิจิทัล เป็นต้น

ส่วนผลการเจรจาอาร์เซ็ป (RCEP) หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 16 ประเทศ จะช่วยเสริมสร้างความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาให้มากขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากสมาชิกอาร์เซ็ปทั้ง 16 ประเทศ ในการหาทางออกร่วมกันและแสดงความยืดหยุ่นต่อกันให้มากที่สุดในช่วงเวลา 3 เดือนที่เหลืออยู่นี้ เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาตามที่ผู้นำได้ตั้งเป้าหมายไว้ ละเรามีเวลาจะเจรจากันในครั้งนี้และอีกครั้งในเดือนพย.นี้ และหวังว่าจะจบตามเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีประเทศไทยตั้งเป้าไว้

อย่างไรก็ดี อาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายหลายปัจจัย อาเซียนจึงจำเป็นต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพและความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN unity and centrality) เพื่อให้ประชาคมของเรามีความเข้มแข็งและสามารถก้าวพ้นจากความท้าทายดังกล่าว ซึ่งไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับสมาชิกอาเซียนและหุ้นส่วนต่างๆ ของอาเซียน ในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้บรรลุเป้าหมายตามที่อาเซียนตั้งไว้ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ คาดหวังความร่วมมือเพื่อพัฒนาการเติบโตต่อไป