“ศรีไทย”ลงทุนเวียดนาม ลูกค้าจี้ใช้”EVFTA-CPTPP”

ลูกค้าสหภาพยุโรป-สหรัฐ สั่ง “ศรีไทยฯ” ขยายฐานลงทุนไปเวียดนามรับ EV-FTA-CPTPP ลดภาษีนำเข้า-ส่วนตลาดในประเทศครึ่งปีแรกอ่วม ยอดขายกำไรหด เหตุกำลังซื้อหด-เมลามีนจีนถล่ม คาดปีนี้โต 0%

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ Srithai เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางบริษัทได้ลงทุนประมาณ 300 ล้านบาทขยายฐานการผลิตในโรงงานแห่งที่ 4 ที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม จากก่อนหน้านี้บริษัทมี 3 โรงงานในเวียดนาม คือ โรงงานในโฮจิมินห์ 2 โรง และโรงงานที่ฮานอย 1 โรง โดยโรงงานใหม่จะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2562-ต้นปี 2563 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 8-9 เดือน หลังจากนั้นจะเริ่มผลิตและจำหน่ายในตลาดเวียดนามและส่งออกไปยังตลาดสหรัฐและสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ปัจจุบันศรีไทยฯมีการผลิต 4 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย

“บริษัทได้ปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าตลาดส่งออก โดยเฉพาะตลาดหลักสหรัฐ สหภาพยุโรป ซึ่งลูกค้ามีคำสั่งขอให้โรงงานต่าง ๆ ของไทยขยายฐานผลิตไปในเวียดนามเพื่อจะได้ใช้สิทธิประโยชน์จากที่เวียดนามบรรลุการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างอียู-เวียดนาม (EVFTA) และความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ในการลดภาษีนำเข้า 0% ด้วย”

นายสนั่นกล่าวถึงภาพรวมครึ่งปีแรก ว่า ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว ประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นกระทบกำลังซื้อผู้บริโภค และส่งผลต่อยอดขายช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ปรับตัวลดลง ประกอบกับบริษัทต้องสำรองเงินตามกฎหมายแรงงานใหม่ ส่งผลให้ขาดทุนเป็นครั้งแรก ส่วนครึ่งปีหลังก็คาดว่าสถานการณ์สงครามการค้าจะยังคงยืดเยื้อ ทำให้เศรษฐกิจโลกผันผวน การส่งออกต้องเผชิญกับปัญหาบาทแข็งค่า ทางบริษัทจึงคาดว่าปีนี้รายได้จากยอดขายจะอยู่ที่ 0% จากเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะขยายตัว 3%

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 2/2562 มีรายได้จากยอดขาย 2,259 ล้านบาท ลดลง 1.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากไม่รวมค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่มีการบันทึกเป็นต้นทุนจำนวน 35 ล้านบาท บริษัทจะมีกำไรขั้นต้น 236 ล้านบาท ลดลง 26.9% ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิ 16 ล้านบาท ลดลง 275.7% จากไตรมาส 2/2561 ที่กำไร 37 ล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจากรายได้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน และผลิตภัณฑ์เพื่องานอุตสาหกรรมลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง ประกอบกับสินค้าอุปกรณ์เครื่องใช้เมลามีนคุณภาพต่ำจากจีนทะลักเข้ามาสร้างความเสียหาย แต่มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ยังไม่มีผลบังคับใช้ ทำให้เอกชนไม่สามารถแข่งขันได้

ทั้งนี้ หากแยกรายได้ไตรมาส 2/2562 ตามประเภท 3 สายธุรกิจ คือ รายได้จากกลุ่มพลาสติก 357 ล้านบาท ลดลง 20.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขาดทุนจากการดำเนินงาน 18 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่องานอุตสาหกรรมมูลค่า 1,862 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไร 42 ล้านบาท ลดลง 27.3% และกลุ่มธุรกิจแม่พิมพ์ และอื่น ๆ 40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังขาดทุน 8 ล้านบาท