เร่งใช้งบกลางเคาะ 3 แนวทางด่วน แก้น้ำท่วม

สทนช.-เกษตรฯเกาะติดสถานการณ์น้ำประชุมหน่วยเกี่ยวข้อง และผู้ว่า 17 จังหวัดภาคเหนือ พิจารณาแนวทางและจัดทำแผนงานเพื่อแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ภาคเหนือ ย้ำต้องทันใช้งานภายใน 1-2 เดือนนี้ เน้นเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำที่ท่วมขังไม่สูญเปล่า-ระบายทิ้งน้อยสุด พร้อมรองรับฝนใหม่ก่อนหมดฤดู

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการหารือพิจารณาแนวทางและจัดทำแผนงานเพื่อแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และสำนักงบประมาณ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากอุทกภัย จ.พิษณุโลกและสุโขทัย โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้แก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมทั้งให้บูรณาการข้อมูลแผนงานโครงการที่จำเป็นต้องดำเนินการทันทีอย่างเร่งด่วน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเงื่อนไขการพิจารณาโครงการ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เป็นโครงการที่มีความพร้อมดำเนินการแล้วเสร็จในระยะ1-2 เดือนนี้ เนื่องจากเป็นโครงการระยะสั้น มีความจำเป็นเร่งด่วน หากไม่ทำจะเกิดความเสียหายหรือได้รับผลกระทบกับประชาชนได้ รวมถึงยังเป็นโครงการที่สามารถเก็บกักน้ำในพื้นที่ที่ประสบน้ำท่วมขังในขณะนี้เก็บไว้ได้ และรองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาเพิ่มได้ด้วย 2. โครงการต้องไม่ซ้ำซ้อนกับงบประมาณปี 2563 ที่ได้รับ 3.โครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ทัน เพื่อก่อหนี้ผูกพันภายในปีงบประมาณ 2562 ในเดือนกันยายนนี้

อย่างไรก็ตาม จากการหารือร่วมกันเบื้องต้นในกรอบแนวทางครั้งนี้แล้ว ทุกหน่วยงานจะกลับไปพิจารณาแผนงานโครงการที่จเสนอมาอีกครั้ง โดยในแต่ละโครงการหน่วยงานต้องแจ้งจังหวัดในพื้นที่รับทราบด้วย และให้กระทรวงมหาดไทยประสาน ตรวจสอบ จากนั้น สทนช.จะนำผลสรุปแผนงานโครงการและวงเงินงบประมาณที่ได้หารือร่วมกันแล้วจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง เสนอ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาภายในวันจันทร์นี้
(9 ก.ย.62) ก่อนเสนอสำนักงบประมาณพิจารณากลั่นกรองเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ เพื่อให้ทันระยะเวลาการก่อหนี้ผูกผันในปีงบประมาณ 2562 ตามลำดับขั้นตอนโดยเร่งด่วนต่อไป

สำหรับแผนงานโครงการเร่งด่วนที่หน่วยงานนำเสนอ อาทิ การจัดทำแก้มลิง ฝาย ปรับปรุงซ่อมแซมคันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากพายุ โดยกรมชลประทาน น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร น้ำบาดาลเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน โดย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การขุดลอกสระ คลอง ห้วย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น

ทางด้าน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังติดตามสถานการณ์น้ำและมอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ว่าจากการรายงานขณะนี้มีปริมาณฝนตกลดน้อยลง ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้คือการรับมวลน้ำที่มีการสะสมตั้งแต่ภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งสถานการณ์โดยรวมกำลังกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ถ้าไม่มีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นในปริมาณที่มาก คาดว่า 2 – 3 วันนี้จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ อีกทั้งได้สั่งการให้เตรียมระวังในทุกพื้นที่ ทั้งด้านบุคคลากรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งมีการเฝ้าระวัง ตลอด 24 ชม. โดยพื้นที่ที่จะต้องเตรียมรับมวลน้ำคือจังหวัดยโสธร อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ที่น้ำชีจะไหลมารวมกัน จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการโดยการผลักดันน้ำลงแม่น้ำโขง และทำการหน่วงน้ำให้ลงพื้นที่นี้น้อยที่สุด ถ้าสามารถนำน้ำไปลงพื้นที่ในทุ่งหรือพื้นที่กักเก็บน้ำแห่งใหม่ได้ ก็จะเป็นการบริหารจัดที่ไม่ทำให้เสียเปล่า ซึ่งขณะนี้ทางกรมชลประทานก็กำลังดำเนินการอยู่


นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าสำรวจความเสียหายหลังจากน้ำลดแล้ว และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อรัฐบาลจะได้ประเมินความเสียหายและมีการชดเชยต่อไป ขณะนี้คาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้ เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วจะมีพื้นที่รองรับน้ำได้ถึง 2,000 – 3,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ในขณะนี้ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าไปในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่การเกษตรที่กำลังจะเก็บเกี่ยว หากทำตรงนี้ได้ความเสียหายก็จะลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเดิม เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น และได้สั่งการให้กรมชลประทานสำรวจพื้นที่ที่จะเป็นแหล่งรองรับน้ำ เช่น ทุ่งบางระกำ และทุ่งทะเลหลวง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่รองรับน้ำไว้ใช้ในแล้งหน้า และเพื่อการอุปโภค-บริโภคด้วย โดยพื้นที่ที่จะมาแหล่งรองรับน้ำนี้รัฐบาลจะหาวิธีการเยี่ยวยา เช่น จ่ายค่าเช่า เป็นต้น ให้พื้นที่เหล่านั้นได้อยู่อาศัยได้ แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบของกฎหมาย และจะมีการส่งเสริมอาชีพ อาจมีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง