ประชุม AEM+AMEM ปลดล็อก RCEP-พท.ทับซ้อนเขมร

ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียน ในช่วงวันที่ 6 ก.ย. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 51 และการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (RCEP) ครั้งที่ 7 และการประชุมระหว่างรัฐมนตรีการค้าอาเซียน 10 ประเทศ กับรัฐมนตรีการค้า กับคู่เจรจา 10 ประเทศแบบทวิภาคี ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐ แคนาดา และรัสเซีย โดยฝ่ายไทยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะ

ไฮไลต์ RCEP-ลงนาม 2 ฉบับ

ไฮไลต์สำคัญครั้งนี้อยู่ที่การประชุมรัฐมนตรี RCEP วันที่ 7-8 กันยายน ซึ่งไทยพยายามปลดล็อกข้อติดขัดเพื่อให้บรรลุการเจรจา ก่อนประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนพฤศจิกายน 2562 และลงนามความตกลงได้ในปี 2563
และการลงนามเอกสารสำคัญ โดยรัฐมนตรี AEM 2 ฉบับ คือ ข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน เพื่อลดเวลาและต้นทุนการทำธุรกิจผู้ประกอบการหากผ่านการตรวจสอบของสมาชิกอาเซียนประเทศใดประเทศหนึ่งแล้ว

เมื่อส่งออกไปยังสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ก็ไม่ต้องตรวจสอบซ้ำถือว่าได้ยอมรับผลการตรวจสอบนั้นแล้ว และพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนฉบับปรับปรุงจากฉบับเดิม ASEAN Protocol on Enhanced ASEAN Dispute Settlement Mechanism (EDSM) เพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

รวมทั้งเป็นไปตามหลักการและกระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก(WTO) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับสมาชิก หากมีข้อพิพาทระหว่างกันจากการใช้มาตรการทางการค้าของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะมีกลไกการหารือแก้ไขข้อพิพาทกันเอง โดยไม่ต้องพึ่งการตัดสินขององค์กรนอกอาเซียน ถือเป็นความสำเร็จของไทย เพราะ 2 เรื่องนี้หาข้อสรุปนานเกือบ 10 ปี

เปิดไส้ในกลไกระงับข้อพิพาท

สาระสำคัญกลไกระงับข้อพิพาทฉบับนี้จะปรับเงื่อนไขการฟ้องร้องให้ชัดเจนและเป็นธรรมมากขึ้น ปรับขั้นตอน และระยะเวลาในการตัดสินคดีและการปฏิบัติตามคำตัดสินคดีให้ปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ปรับให้สมาชิกที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น มีกลไกให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายต่อสมาชิกอาเซียนที่ต้องการ และเพิ่มให้อนุญาโตตุลาการเป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาท เป็นต้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า พิธีสารฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกมาก เนื่องจากขณะนี้กลไกระงับข้อพิพาททางการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) กำลังประสบปัญหาเรื่องการคัดเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ชุดใหม่แทน 6 ใน 7 คน ที่จะหมดวาระในเดือนธันวาคมนี้ หากสมาชิก WTO ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในการเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์แทนตำแหน่งที่ว่างลงได้ จะทำให้กระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO หยุดชะงักลง

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่อาเซียนเริ่มมีกลไกระงับข้อพิพาทครั้งแรกนับแต่ปี 1996 หลังจากที่ WTO มีกลไกระงับข้อพิพาทเพียงปีเดียว (1995) แทบเรียกได้ว่าไม่เคยใช้เลย หรือมีเพียงแค่ 1 เคสเท่านั้น คือ บริษัทสิงคโปร์ร้องรัฐบาลเมียนมาเกี่ยวกับความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน (ACIA) แต่เข้าสู่กระบวนการเจรจาตามกลไกนี้ ขณะที่ WTO มีการใช้กลไกนี้ถึง 596 เคส เนื่องด้วยอาเซียนมีแนวทางปฏิบัติที่อะลุ่มอล่วยเน้นการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก แม้จะมีกลไกก็ไม่ค่อยใช้จริง

แหล่งข่าวนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศมีความสำคัญมากขึ้น การที่อาเซียน
มีกลไกระงับข้อพิพาทเตรียมไว้ถือเป็นเรื่องที่ดี สามารถใช้เป็นแพลตฟอร์มในการเจรจาแก้ปัญหาภายในอาเซียน หรืออาเซียนกับพันธมิตร เพราะกลไก WTO มีเรื่องความไม่เท่าเทียมกันและองค์คณะไม่ครบ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนไม่เพียงพอ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะดึงกลไกบางส่วนของ WTO มาใช้

AMEM เพิ่มพลังงานหมุนเวียน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน (AMEM) ว่า อาเซียนได้หารือภาพอนาคตพลังงานของภูมิภาค โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตทางการลงทุนพลังงานอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ปีนี้ได้เตรียมรับมือการเปลี่ยนผ่านพลังงานถ่านหินไปสู่พลังงานสะอาดให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน

จากปัจจุบันอยู่ที่ 13% ให้เป็น 23% ในปี 2568 พร้อมปรับลดความเข้มข้นการใช้พลังงานให้ได้ 24.4% หลังบรรลุเป้าหมายเดิมที่ลดลง 20% แล้วตั้งแต่ปี 2560 พร้อมกันนี้ได้หารือร่วมกับทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) ในประเด็นบทบาทของพลังงานทดแทน ทวิภาคีพลังงาน 7 ประเทศ

เวทีหารือระดับทวิภาคีรัฐมนตรีพลังงานไทยมีกำหนดพบกับ 7 ประเทศ โดยวันแรกได้หารือกับสิงคโปร์ สปป.ลาว มาเลเซีย กัมพูชา และเมียนมา โดยได้ขยายความร่วมมือโครงการด้านไฟฟ้า 3 ประเทศ คือ ลาว-ไทย-มาเลเซีย ระยะที่ 2 (LTM-PIP) เพิ่มอีก 2 ปี ปริมาณซื้อขายเพิ่มจาก 100 เป็น 300 เมกะวัตต์ จะเริ่มในเดือน ม.ค. 2563

ส่วนประเด็นการวางระบบเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน (อาเซียนกริด) ไทย-เมียนมา เห็นพ้องให้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อศึกษาด้านเทคนิคและความเป็นไปได้ในปริมาณและราคาการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน โดยผ่านระบบส่ง 250 เควีเส้นทาง อ.แม่สอด จ.ตาก-เมียวดี เนื่องจากพม่ามีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจึงต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มและกระจายไปทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน ได้หารือเรื่องการพัฒนาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งเป็นประเด็นที่จะนำไปสู่การพัฒนาแอลเอ็นจีขนาดเล็ก (small scale LNG) ซึ่งเป็นทิศทางของเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคตที่จะมีความสำคัญมากขึ้น และไทยก็มีความพร้อมรองรับได้ถึง 30 ล้านตันต่อปี จากที่ปัจจุบันมีระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่รองรับอยู่แล้วเพื่อให้สามารถกระจายการใช้ LNG ให้ครอบคลุมมากขึ้น

เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-เขมร 

และในเวทีทวิภาคีไทย-กัมพูชา ทางกัมพูชาเป็นฝ่ายหยิบยกเรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาหารือว่าอยากเห็นการเริ่มต้นการเจรจาอีกครั้ง จากนี้ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องไปดำเนินการกระบวนการภายในว่าติดปัญหาอะไร มีทางออกอย่างไร


จากนั้นจะมาหารือกันอีกครั้งหนึ่ง ส่วนฝ่ายไทยหยิบยกข้อเสนอโครงการขายไฟฟ้าให้กัมพูชา โดยเฉพาะโครงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เจรจากับการไฟฟ้ากัมพูชา ซึ่งรัฐมนตรี 2 ประเทศเห็นชอบในหลักการและจะหารือในรายละเอียดต่อไป